Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กรกฎาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ภาคการผลิตของจีนชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ... ส่งสัญญาณการเติบโตที่อ่อนแรงลงในช่วงที่เหลือของปีนี้(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2869)

คะแนนเฉลี่ย
ดัชนีการจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีนในเดือนมิถุนายน ลดลงสู่ระดับ 52.1 จากที่ 53.9 ในเดือนพฤษภาคมก่อนหน้า ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีน สภาพอากาศแปรปรวนรวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ทางใต้ และความกังวลเกี่ยวกับฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่อัตราเติบโตอาจจะชะลอลง ส่งผลให้การเติบโตทั้งปีอาจอยู่ที่ราวร้อยละ 10 ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 (YoY) เนื่องจากปัจจัยท้าทายต่างๆ จากทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักในกลุ่มจี 3 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในจากผลของมาตรการของทางการจีนที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยไปตลาดจีนเพื่อสนองความต้องการบริโภคและการลงทุนในจีนอาจชะลอลงตามไปด้วย หลังจากที่การส่งออกของไทยไปจีนเติบโตในระดับสูงที่ร้อยละ 53.2 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงงานในจีนน่าจะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจในจีน แต่ถือเป็นแรงผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากมณฑลติดชายฝั่งทะเลทางตะวันออกที่มีความเจริญในระดับสูง ไปยังมณฑลตอนในของจีนที่มีค่าแรงงานถูกกว่าครึ่งหนึ่งและยังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ซึ่งน่าจะทำให้มีการกระจายรายได้เข้าไปสู่พื้นที่ตอนในของจีน ส่วนรายได้ค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้นในจีนจะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชน ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของจีน ถือเป็นการปรับโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวให้ขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในมากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าตลาดภายในของจีนให้มีความน่าดึงดูดในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพื่อผลิตสินค้า/บริการสนองความต้องการของตลาดภายในที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แทนที่ปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากค่าแรงงานระดับต่ำดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นโยบายการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อความต้องการบริโภคภายในของจีนที่ปรับสูงขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ