Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ตุลาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) : ก้าวสำคัญของสองประเทศ ... ผลกระทบและโอกาสของไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2229)

คะแนนเฉลี่ย

ความตกลงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) เป็นความตกลงทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมการลดอากรขาเข้า การเปิดเสรีภาคบริการ และการส่งเสริมการลงทุน โดยการลดอากรขาเข้านั้นจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 จากอัตราสำหรับสมาชิก WTO ซึ่งใช้ในปี 2552 จะกระทั่งเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2556 ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการนั้น ทั้งสองฝ่ายผูกพันเปิดเสรีในบางธุรกิจในบางสาขาการบริการเพิ่มเติมจากกรอบ WTO สำหรับในส่วนของการลงทุนนั้น ยังอยู่ระหว่างการตกลงรายละเอียดการส่งเสริมการลงทุนที่จะใช้จริงในทางปฏิบัติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลดอากรขาเข้าในกรอบ ECFA อาจกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในบางรายสินค้าที่มีการผูกพันกันระหว่างจีนและไต้หวันในระยะข้างหน้า เพราะจะมีผลทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนและไต้หวัน ทั้งจากการที่ไทยจะต้องสูญเสียความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบด้านอากรขาเข้าที่เคยได้ในตลาดจีน ขณะที่ไต้หวันจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากด้านภาษีนำเข้าที่จะเริ่มลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ในหลายสินค้า เช่น กลุ่มเกษตร ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน เป็นต้น นอกเหนือจากความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งในตลาดจีนที่ไต้หวันเหนือกว่าไทยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงในกรอบ ECFA ก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในจีนผ่านการจัดตั้งธุรกิจในไต้หวันก่อน เพื่อลดอุปสรรคด้านสัดส่วนผู้ถือหุ้นในธุรกิจจีนที่เปิดกว้างให้กิจการจากไต้หวันเข้าไปเป็นเจ้าของมากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยความสำเร็จของกรอบ ECFA ทำให้ไต้หวันมีความสนใจที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศมากขึ้น รวมถึงไทยด้วย ซึ่งก็น่าจะสร้างประโยชน์และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและไต้หวันได้พอสมควรในอนาคต เพราะทั้งไทยและไต้หวันต่างมีจุดแข็งที่อาจช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้ในหลายอุตสาหกรรมที่น่าจะนำไปสู่การลงทุนและพัฒนาเพื่อให้เกิดศักยภาพที่สูงยิ่งขึ้นได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร พลังงานทางเลือก และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนั้นทั้งไทยและไต้หวันยังสามารถพึ่งพากันในการเชื่อมโยงไปยังตลาดอื่นๆ ได้ โดยไทยสามารถอาศัยไต้หวันเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าเข้าสู่จีนได้ ในขณะที่ไต้หวันสามารถอาศัยไทยเป็นประตูสู่อาเซียนได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ