Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 พฤษภาคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การเมืองกรีซ สั่นคลอนสถานะกรีซในยูโรโซน และอาจสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3288)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการเมืองกรีซอาจจะสั่นคลอนสถานะกรีซ ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง ในขณะที่ภาคสถาบันการเงินกรีซก็เผชิญกับความยากลำบากอย่างยิ่งในการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด และไม่สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ โดยผลการเลือกตั้งรอบสองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2555 คงจะบ่งชี้ถึงทางเลือกที่ประชาชนชาวกรีซจะต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเลือกอนาคตของประเทศ ถัดจากนั้น คงต้องรอดูท่าทีการหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซและทางการยุโรป โดยเฉพาะกำหนดการที่กรีซจะต้องเสนอแผนการปรับลดรายจ่ายมูลค่า 11.5 ล้านล้านยูโรในช่วงปี 2556-2557 ต่อ Troika ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 ทั้งนี้ หากกรีซและ Troika สามารถเจรจาประนีประนอมไปสู่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็คงจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้าย และเป็นการเปิดโอกาสที่การแก้ปัญหาหนี้ยุโรปจะเน้นไปในทางที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Growth Pact) มากขึ้น อันน่าจะทำให้ปัญหาเฉพาะหน้าคลี่คลายลง และทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาพื้นฐานในเชิงโครงสร้างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ผนวกกับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดที่ผ่อนปรนลง ในที่สุดจะทำให้มูลค่าหนี้ยังคงพอกพูนและรอเวลาที่จะกลับมาสร้างความสั่นคลอนให้กับตลาดได้อีกเป็นระลอกๆ ในระยะต่อไป

สำหรับในทางตรงกันข้ามที่แม้ขณะนี้ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติยังจำกัด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยนั้น คือ กรณีกรีซไม่ยอมรับ/ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางการยุโรป หรือความพยายามในทุกวิถีทางเพื่อให้กรีซเดินไปในแนวทางการแก้ปัญหาของ EU/ECB/IMF ประสบความล้มเหลว อันอาจเพิ่มโอกาสที่กรีซจะต้องออกจากการใช้สกุลเงินยูโร ผลที่ตามมาจะสร้างความตื่นตระหนกเป็นวงกว้างให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก โดยอาจลุกลามไปยังประเทศยุโรปรอบนอกที่ประสบกับปัญหาหนี้ และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร ในขณะที่กรีซอาจต้องเผชิญการล่มสลายของระบบธนาคาร อันจะส่งผลไปยังภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสี่ยงจากการล่มสลายของสังคม จากการที่ภาครัฐต้องหยุดจ่ายเงินเดือน ราคาสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และการอ่อนค่าของเงินออม ตลอดจนความยากลำบากในการขอเงินช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ในการปฏิรูปประเทศ

นอกจากนั้นแล้ว ยังคงมีอีกหลากหลายประเด็นสำคัญทั้งพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า และอาจมีอิทธิพลต่อสภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนโลกให้เผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า ดังนั้น การเฝ้าติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในทุกประเด็นแวดล้อม และการวางแผนเตรียมการรับมืออย่างมีสติเพื่อรองรับสถานการณ์เลวร้ายสุดที่อาจจะเกิดขึ้น น่าจะช่วยให้นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบต่อธุรกิจหรือพอร์ตการลงทุนภายใต้ภาวะการณ์ที่ผันผวนต่อเนื่องดังกล่าวไปได้โดยได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ