Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มิถุนายน 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุม 19-20 มิ.ย. 2555 … คาดเฟดคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3301)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด น่าจะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่สี่ของปีในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 พร้อมระบุว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะยังคงเอื้อต่อการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำจนถึงปลายปี 2557 เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกัน คาดว่าเฟดน่าจะยังคงขนาดงบดุลต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจพิจารณาต่ออายุโครงการซื้อตราสารเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (The Maturity Extension Program: MEP หรือ “Operation Twist”) ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2555 หรืออาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่เฟดจะปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางการเงินมาเป็นการเข้าดูแลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดที่อยู่อาศัยไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤตหนี้ยุโรป นอกจากนี้ เฟดยังอาจมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เฟดติดตามดูแลไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ รวมไปถึงในกรณีที่เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินขึ้น เฟดก็คงไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่บนเส้นทางของการขยายตัวดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ถึงแม้ ณ ขณะนี้ เฟดจะยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะรักษาการฟื้นตัวในระดับปานกลาง โดยที่สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะยังคงทยอยปรากฏขึ้นได้ ก็ตาม

มองไปในระยะข้างหน้า นอกจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่อาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านความเชื่อมโยงกันที่ค่อนข้างสูงในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงภาคการค้า-การลงทุนแล้ว เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญบททดสอบจากประเด็นด้านการคลังในประเทศ ทั้งมาตรการลดภาษีที่จะหมดอายุลงและการตัดลดรายจ่ายอัตโนมัติในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งความไม่แน่นอนในประเด็นนี้ อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบกับภาวะหดตัวในช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ได้ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยเฟด ท่ามกลางการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จึงยังคงมีความจำเป็น

ทั้งนี้ แนวนโยบายของเฟด ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ย่อมจะมีอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อการปรับตัวของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก ไม่เว้นแม้ไทย ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเสี่ยงจากการขยายตัวที่อ่อนแรงลงของสหรัฐฯ จีนและเอเชีย อีกทั้งวิกฤตหนี้ยุโรป ตลอดจนความเสี่ยงจากภาวะค่าครองชีพและการเมืองในประเทศ คงทำให้ทางการไทยจะยังคงให้น้ำหนักและดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ