Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2556

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุมเฟด 19-20 มี.ค. 2556 ... คาดเฟดยังคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3416)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะยังคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ (Quantitative Easing) รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำในการประชุม ณ วันที่ 19-20 มีนาคม 2556 นี้ ทั้งนี้ แม้ว่าพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม ในช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมาจะปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแออยู่ ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษีอาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคภาคครัวเรือนในระยะถัดไปได้ นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะ และการจัดทำร่าง พรบ.งบประมาณปี 2557 ในขณะที่มีโอกาสที่เฟดอาจจะปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเมื่อเทียบกับประมาณการในเดือน ธ.ค. 55 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดรายจ่ายโดยอัตโนมัติ

สำหรับผลต่อประเทศไทย การที่เฟดยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษดังกล่าว อาจจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีแนวโน้มตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นต้น อันอาจสร้างความผันผวนในกระแสการเคลื่อนไหวของเงินทุนทั่วโลก โดยเงินทุนมีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมไปถึงการเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง หากเกิดเหตุการณ์เชิงลบเกิดขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลกลับ ซึ่งจะนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ คงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของเฟด โดยหากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยให้เฟดอาจมีการชะลอหรือยุติการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ อันอาจกระตุ้นให้มีกระแสเงินไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ในเอเชียและไทยให้เข้าสู่จังหวะของการปรับฐานก็เป็นได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ