Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 พฤษภาคม 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนลดอัตราดอกเบี้ยนโบบายครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน สะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2624)

คะแนนเฉลี่ย

ภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วถึง 2 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 ที่ผ่านมา และล่าสุดธนาคารกลางจีนก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งให้มีผลในวันที่ 11 พ.ค. 2558 โดยลดลงร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีลดลงจากร้อยละ 5.35 เหลือ 5.10 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีลดลดจากร้อยละ 2.50 เหลือร้อยละ 2.25 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของทางการจีนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ทั้งในส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจีนยังมีพื้นที่ให้สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในการกระตุ้นสภาพคล่องนั้นอาจจะยังมีความเป็นไปได้น้อย ซึ่งนอกเหนือจากนโยบายการเงินแล้ว ทางการจีนประกาศว่าในปี 2558 จะมีการนำนโยบายการคลังมาใช้ร่วมกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เพื่อท้ายที่สุด คือให้เกิดการสร้างงานในประเทศมากขึ้น (Job creation) ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่สำคัญของทางการนอกเหนือจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับนัยยะที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น จากตัวเลขการนำเข้าของจีนที่ติดลบติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งพึ่งพาตลาดจีนมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ การลดดอกเบี้ยนโยบายของจีนอาจจะยังไม่สามารถกระตุ้นการส่งออกของไทยไปยังจีนได้มากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยไปจีนส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในกลุ่มสินค้าขั้นกลาง และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคายังอยู่ในช่วงขาลง แต่ในระยะยาวก็นับเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการเร่งผลักดันสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่จีนมากขึ้น จากทิศทางการเติบโตของรายได้ของชาวจีน การขยายตัวเข้าสู่ความเป็นเมือง และแนวทางการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนที่จะเข้าสู่ภาวะดุลยภาพใหม่ที่เน้นการบริโภคภาคเอกชนเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ