Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กรกฎาคม 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาตลาดหุ้นจีนผันผวน ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ผลกระทบต่อไทยยังอยู่ในกรอบจำกัด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2640)

คะแนนเฉลี่ย
ท่ามกลางการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรอันนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างสะสมที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญอยู่ กอรปกับสัญญาณชะลอลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2558 ส่งผลให้ทางการจีนต้องหันมาดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องโดยนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง นอกเหนือไปจากประกาศลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการจีนคงมีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าให้ทยอยชะลอตัว โดยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ธนาคารกลางจีนยังมีพื้นที่ให้สามารถใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมได้อีก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ตามหรือใกล้เคียงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7 (YoY)
อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถกล่าวได้ว่า ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักมาจากการคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในระยะข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมา ตลาดหุ้นของจีนไม่ได้มีความสัมพันธ์เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของจีนมากนัก โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ราวร้อยละ 30 ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา จากระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมามาก อีกทั้งการที่จีนประกาศเพิ่มเกณฑ์การวางหลักประกันมาร์จิน (margin requirement) ทำให้เกิด Panic Sell ในนักลงทุนรายย่อย
กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของความผันผวนของตลาดหุ้นจีนต่อภาคเศรษฐกิจจริงในขณะนี้อาจยังมีไม่มาก แต่หากตลาดหุ้นยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องลากยาวออกไป อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงผ่านความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และความมั่งคั่งของภาคครัวเรือน (Wealth effect) รวมถึงแผนการลงทุนของภาคธุรกิจที่อาจหยุดชะงัก และกระทบโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยไปจีนมีความล่าช้าออกไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอัตราการขยายตัวของ GDP จีนที่เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 จะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปจีนเปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1.8 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2558 เติบโตร้อยละ 6.9 และมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนหดตัวราวร้อยละ 1

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ