ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบสุดท้ายของปี 2558 ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2558 นั้น คาดว่า เฟดมีโอกาสที่จะ ‘เริ่ม' การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ อันถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% (Zero Interest Rate Policy :ZIRP) ที่เฟดดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขณะที่นวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็เริ่มมีทิศทางเร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับคาดการณ์ของเฟด
สำหรับผลต่อไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคงกระทบไทยจำกัด เนื่องจากตลาดการเงินได้มีการปรับตัวไปบางส่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้ง การปรับลดการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่เสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี กอปรกับสภาวะสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และประเทศไทยมีการพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกในระดับต่ำ จึ่งเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยคงรับมือได้กับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนกระแสเงินทุน หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยที่เงื่อนไขในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเอื้อให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อเกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่รอพลังการขับเคลื่อนจากภาครัฐ และการลงทุน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น