Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มีนาคม 2559

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนเปิดฉากการประชุมสองสภาประจำปี 2559 เป้าหมายเติบโต 6.5-7.0% เน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2708)

คะแนนเฉลี่ย
เมื่อวันที่ 3 และ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา จีนได้เปิดฉากการประชุม ;สองสภา” ประจำปี 2559 ซึ่งได้แก่ สภาประชาชนแห่งชาติจีน และสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน โดยการประชุมนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการบริหารประเทศของจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลจะประกาศแนวทางการดำเนินนโยบายและเป้าหมายต่างๆทางเศรษฐกิจ รวมถึงในครั้งนี้ทางการจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) พร้อมกันด้วย ซึ่งในปี 2559 นี้ทางการจีนได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 6.5-7.0 น้อยกว่าเป้าหมายในปี 2558 ที่ร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายในปี 2559 ไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 6.5 นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะว่าในปีนี้โอกาสที่จะได้เห็นภาพเศรษฐกิจจีนตกต่ำหรือเกิดวิกฤตน่าจะมีน้อยมาก และทางการเองคงจะมีแผนรองรับหากพลวัตทางเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่คาด นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจต่างๆในปีนี้ สะท้อนภาพที่ทางการจีนกำลังพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาเพียงภาคการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก เป็นการพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ทางการจีนยังได้เผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตามดุลยภาพใหม่ (New Normal) ด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่นับว่าหยั่งรากลึกและฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอดอย่างปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Overcapacity) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกินโดยการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมน่าจะเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ตรงจุดมากกว่าการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินเพียงอย่างเดียวที่อาจไปกระตุ้นให้มีการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นในที่สุด
สำหรับนัยยะต่อไทย จากนโยบายเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมา และสภาวะเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยผลต่อภาคการส่งออกไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 0.5-2.5 บนสมมติฐานที่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเดือนถัดๆไป อย่างไรก็ดี หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีระดับต่ำต่อเนื่อง หรือดิ่งลงไปมากกว่านี้ และจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนแรกของปี 2559 ที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 (YoY) ส่งผลให้มีโอกาสที่จะต้องปรับประมาณการอีกครั้งในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ