มติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 2559 อีก 0.25% มาที่กรอบ 0.50-0.75% นั้น นอกจากจะเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำถึงการดำเนินต่อไปของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ หลังจากที่เฟดทิ้งช่วงการปรับดอกเบี้ยเป็นเวลาเกือบ 1 ปี จากที่มีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2558 ทั้งนี้ จากภาพรวมของถ้อยแถลงการประชุม ท่าทีของประธานเฟด ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Dot Plot ชุดใหม่ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกประมาณ 1-2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในปี 2560 โดยนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อจังหวะการคุมเข้มของเฟดในปีหน้า อย่างไรก็ดี กระบวนการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของเฟด คงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2560 เพื่อรอประเมินผลตอบรับของตลาดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ ธ.ค. นี้ ตลอดจนรอดูแนวทางที่ชัดเจนของมาตรการทางการคลังภายใต้รัฐบาลของ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างไร
สำหรับประเทศไทยนั้น คาดว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (External Balance) ที่แข็งแกร่ง ขณะที่ ทุนสำรองฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า วัฏจักรการคุมเข้มดอกเบี้ยของเฟดคงส่งผลให้โอกาสความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปลดน้อยลงไปมาก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น