Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กุมภาพันธ์ 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนส่งสัญญาณคุมเข้ม...แม้ผลของมาตรการอาจจำกัด แต่มีประเด็นต้องติดตาม (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3661)

คะแนนเฉลี่ย


​ธนาคารกลางจีน หรือ PBoC ส่งสัญญาณคุมเข้มเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2560 โดยประกาศขึ้นดอกเบี้ยในช่องทางที่ใช้ปล่อยสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน (ทั้งอัตราดอกเบี้ย Reverse repo OMOs และอัตราดอกเบี้ย SLF) ในกรอบประมาณ 0.10-0.35% โดยอัตราดอกเบี้ย Reverse repo OMOs ถูกปรับเพิ่มขึ้น 0.10% มาที่ 2.35% (สำหรับระยะ 7 วัน) 2.50% (สำหรับระยะ 14 วัน) และ 2.65% (สำหรับระยะ 28 วัน) จาก 2.25% 2.40% และ 2.55% ตามลำดับ นอกจากนี้ PBoC ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.10-0.35% สำหรับสถาบันการเงินที่มาขอกู้เงินระยะสั้นๆ จาก PBoC (Standing Lending Facility หรือ SLF) โดยอัตราดอกเบี้ย SLF ระยะข้ามคืน ขยับขึ้นจาก 2.75% เป็น 3.10% ขณะที่ อัตราดอกเบี้ย SLF ระยะ 7 วัน และ 1 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 3.35% และ 3.70% จากระดับ 3.25% และ 3.60% ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นการส่งสัญญาณอย่างจริงจังกลับไปที่สถาบันการเงินให้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ระหว่างกัน หลังจากที่การก่อหนี้ของภาคสถาบันการเงินยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งตอกย้ำว่า "ประเด็นเชิงเสถียรภาพของระบบการเงินจีน" กำลังกลายเป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่ PBoC ให้ความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดการเงินจีน และตลาดการเงินโลกในส่วนอื่นๆ (รวมถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนของไทย) แทบไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับช่องทางดูแลสภาพคล่องของ PBoC ในรอบนี้ เพราะจุดสนใจของนักลงทุนและตลาดการเงินในระยะนี้ ยังคงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า หากจีนทยอยปรับเปลี่ยนท่าทีเชิงนโยบายการเงินมาเป็นคุมเข้มในส่วนอื่นๆ มากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ก็อาจจะมีผลทางอ้อมต่อ "บรรยากาศ" ของตลาดเงินตลาดทุนในเอเชีย รวมทั้งไทย อย่างยากจะหลีกเลี่ยง​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ