Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มีนาคม 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีน... โจทย์หินที่ท้าทายของทางการจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3668)

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2560 นั้น ทางการจีนให้ความสำคัญต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดน้อยลง และหันมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น โดยเน้นการปฏิรูปประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี ความท้าทายหนึ่งที่ทางการจีนยังไม่ได้ระบุถึงอย่างจริงจังในการประชุม NPC ครั้งนี้ คือ แนวทางการจัดการกับปัญหาภาระหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรัฐวิสาหกิจ (SOEs) จนภาระหนี้ของ SOEs มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของหนี้ภาคเอกชนจีน และมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้ทางการจีนได้มีความพยายามในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ช่วง .. 2559 หากแต่ การแก้ไขปัญหา SOEs ยังคงเป็นไปอย่างหละหลวม โดยไม่ได้ใช้ยาขนานแรงอย่างการปรับโครงสร้าง SOEs ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนได้จากความสามารถในการทำกำไรของ SOEs จีน (ROAA) ที่ยังลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของกำไรของ SOEs ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 1.7 ในปี 2559

ดังนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างขอ SOEs ดังกล่าวควรได้รับการปรับปรุงอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ควรควบคุมคุณภาพของการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อมิให้ความเสี่ยงของระบบการเงินการธนาคารเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อคงค้างในระบบอีกร้อยละ 12 ในปี 2560 นี้ที่ NPC ได้วางไว้

นับต่อจากนี้ คงต้องจับตาการสานต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจผ่านแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีนที่ออกมาในช่วงต้นปี 2560 ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจได้ (Mixed-ownership reform) ว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งถ้ากฎหมายสามารถให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรได้อย่างโปร่งใส ก็อาจทำให้ความหวังของการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูป SOEs กลับมาสดใสอีกครั้ง

อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กระบวนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนคงจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากสัดส่วนการจ้างงานของ SOEs ในภาคการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพที่สูงเกือบร้อยละ 10 ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2559 รวมถึงขนาดสินทรัพย์ของ SOEs ที่มีขนาดใหญ่จนยากที่จะลดขนาดขององค์กร (Downsizing) ในระยะเวลาอันสั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ