Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มิถุนายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เงินยูโรตกต่ำ : ผลกระทบการค้า-ท่องเที่ยว-ลงทุนของไทย

คะแนนเฉลี่ย

การที่ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2548 โดยมีค่าลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในขณะนี้ จากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1.35 ดอลลาร์/ยูโร ร่วงลงเหลือราว 1.20 ดอลลาร์/ยูโร ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทขยับสูงขึ้นประมาณ 5.34% เมื่อเทียบกับเงินยูโร ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 52.73 บาท/ยูโร ตอนต้นปี 2548 เงินบาทแข็งขึ้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 49.91 บาท/ยูโร ในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความระส่ำระสายทางการเมืองภายในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union : EU) รวมถึงความซบเซาทางเศรษฐกิจเรื้อรังของ EU ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นในการรวมกลุ่มของ EU ว่าจะมีเสถียรภาพต่อไปหรือไม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการที่เงินยูโรมีแนวโน้มลดลง ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ดังนี้

1. ส่งออกชะลอ ระวังดุลการค้าสะเทือน การที่เงินยูโรมีค่าลดลงในช่วงนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศ EU ที่ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยจะมีราคาแพงขึ้นในสายตาของผู้ซื้อในตลาด EU บั่นทอนการส่งออกสินค้าไทยไปยัง EU ทางด้านการนำเข้าสินค้าจาก EU ในปีนี้ น่าจะขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพราะค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลง จะจูงใจให้ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคจาก EU เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มว่ายอดเกินดุลการค้าของไทยกับ EU น่าจะลดลงในปีนี้ ในช่วง 4 เดือนแรก 2548 ปรากฏว่าไทยเกินดุลการค้ากับ EU ลดลงแล้ว 7.5% เหลือมูลค่า 1,497.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2. ชาวยุโรปลังเลเที่ยวไกล การที่เงินยูโรมีค่าลดลง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยว EU บางกลุ่มหันไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น หรือหากนักท่องเที่ยว EU ที่ยังคงต้องการเดินทางมาเที่ยวไทย ก็มีแนวโน้มที่จะย่นระยะเวลาท่องเที่ยวไทยให้สั้นลง จากเดิมที่เคยพำนักในไทยเฉลี่ยราว 2 สัปดาห์ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 90,000 ล้านบาทต่อปี

3. จับตาผลกระทบการลงทุนระยะยาว ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าโครงการลงทุนของ EU ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI พุ่งขึ้น 116.6% เป็นเม็ดเงิน 12,177 ล้านบาท จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า หากเงินยูโรมีค่าอ่อนแอลงเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะโครงการลงทุนใหม่ๆ ของ EU ที่เตรียมจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คงต้องทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้การลงทุนของ EU ในไทยชะลอลงในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ากลุ่มประเทศ EU เป็นพันธมิตรเศรษฐกิจดั้งเดิมที่สำคัญของไทย ดังนั้น ทางการไทยจำเป็นต้องหาช่องทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นกับสมาชิก EU เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่ค่าเงินยูโรตกต่ำ อาทิ
  • เจาะตลาดสมาชิกใหม่ EU จริงจัง ได้แก่ ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ค เอสโทเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวัก และสโลวีเนีย ซึ่งมีความต้องการสินค้าจำพวกอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ในประจำวันค่อนข้างสูง สินค้าไทยน่าจะขยายตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ของ EU ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยสามารถอาศัยประเทศเปิดใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งและช่องทางกระจายสินค้าเข้าสู่ยุโรปอย่างกว้างขวางต่อไป
  • รณรงค์ต่างชาติเที่ยวทั่วไทย ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาว EU ยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูจากภัยสึนามิ ประเทศไทยน่าจะแปลงวิกฤตเป็นโอกาส โดยรณรงค์ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายของไทย และครอบคลุมการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ชาวต่างชาติที่มีรสนิยมต่างกัน สามารถท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายรายได้แล้ว ยังกระตุ้นให้คนท้องถิ่นมีงานทำ เผยแพร่สินค้า OTOP และรักภูมิลำเนาของตนเอง
  • สนับสนุนการลงทุน SME นักธุรกิจรายย่อยของไทยน่าจะร่วมมือกับนักธุรกิจ EU ที่มีชื่อเสียงระดับสากลและมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อนำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ในการพัฒนากิจการของไทย ขณะเดียวกันคาดว่าประเทศไทยน่าจะเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายของ SME จากยุโรปเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยต่ำกว่าใน EU


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ