Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดจีนปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า ในปี 2549 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตในปี 2548 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศทั้งสามยังคงได้รับแรงเกื้อหนุนจากการขยายตัวของการส่งออก การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติ การระบาดของโรคไข้หวัดนก และแนวโน้มราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า สรุปได้ดังนี้

1. การขยายตัวของสินค้าส่งออกของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า

- สินค้าเกษตรส่งออกของกัมพูชา ลาว และพม่ามีแนวโน้มสดใส - จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยาและแม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย โดยไทยซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของลาว และพม่า ตกลงยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มันฝรั่ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน และไม้ยูคาลิปตัส และส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปร่วมผลิตสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้านและรับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า การทำสัญญาเกษตรพันธะ (contract farming) โดยส่งออกสินค้าเกษตรเหล่านี้มาไทยโดยไม่เสียภาษี ทำให้สินค้าเกษตรส่งออกของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า มีช่องทางขยายตลาดในประเทศไทยได้กว้างขวางขึ้น

- การส่งออกสิ่งทอ & เสื้อผ้าสดใสหลังเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของโลก - หลังจากเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของโลกในวันที่ 1 มกราคม 2548 ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งกัมพูชาและลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอ ส่วนพม่า แม้การส่งออกของพม่าไปสหรัฐฯ ไม่ค่อยแจ่มใสนัก เพราะพม่าถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ในปี 2546 เนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอของพม่าไปสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขยายตัวได้ดี แต่การส่งออกโดยรวมของพม่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากพม่าส่งสินค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียได้เพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศไทย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่าที่คาดว่าจะมีปริมาณสำรองมากและขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและขุดเจาะ ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของพม่าที่นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก ส่วนสินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ของพม่า ได้แก่ ไม้สักและผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

2. การลงทุนภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภค & การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

รัฐบาลของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่ามีแผนขยายการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ประชาชน ประกอบกับการที่ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เช่น การปรับปรุงถนนในกัมพูชาเพื่อเกื้อหนุนการลงทุน การค้าและการท่องเที่ยว ส่วนลาวร่วมมือกับไทยและฝรั่งเศสสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

3. การท่องเที่ยวขยายตัว การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า เพราะเป็นแหล่งนำรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศที่สำคัญ การท่องเที่ยวของกัมพูชา ลาว และพม่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีโบราณสถานเก่าแก่และเป็นที่ตั้งของเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก จึงเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สนใจเดินทางไปเที่ยวชม

4. โอกาสจากการเปิดเสรีทางการค้าของโลก การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ ประเทศฮ่องกง ระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2548 แม้ว่ายังไม่ได้สามารถปิดรอบการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาได้สำเร็จ แต่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร คือ ประเทศสมาชิก WTO จะต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรทุกรูปแบบภายในปี 2556 ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วที่ปกป้องภาคเกษตรอย่างมาก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร เพราะสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ส่งออกสินค้าเกษตรด้วย แต่ประเทศกำลังพัฒนาควรระวังไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้วหาช่องทางกีดกันสินค้าเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าสู่ตลาดประเทศพัฒนาแล้วโดยใช้รูปแบบอื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดจีนในปี 2549 สรุปได้ดังนี้

1) ภัยคุกคามจากไข้หวัดนก -โรคไข้หวัดนกเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า หากไม่มีการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

2) ราคาน้ำมัน - คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2549 ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของกัมพูชา ลาว และพม่า มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น

3) มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ -หากการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองในพม่ายังไม่มีความคืบหน้า จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของพม่า บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และกระทบต่อการท่องเที่ยวในพม่า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ