Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กันยายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ไทย-ออสเตรเลีย : พันธมิตรการค้าก้าวสู่ภาวะขาดดุล

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนให้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องหันมาทบทวนและกระตือรือร้นด้านการส่งออกอย่างรอบคอบ พร้อมกับดูแลการนำเข้าให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไทยต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้ารุนแรงอีก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 10 อันดับแรก ปรากฏว่ามีจำนวน 4 ประเทศที่ไทยเกินดุลการค้าด้วย ส่วนที่เหลืออีก 6 ประเทศ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า ซึ่งในจำนวนนี้ ออสเตรเลีย ถือว่าเป็นคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากเคยเป็นชาติที่ไทยเกินดุลการค้าในช่วงที่ผ่านๆมา แต่สถานการณ์กลับพลิกผันในปี 2548 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย 251.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับยอดเกินดุล 194.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันปี 2547
  • ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นราว 70% ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548

แม้การลดภาษีนำเข้าของไทยให้กับออสเตรเลียภายใต้ FTA (FTA ไทย-ออสเตรเลีย เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2548) ทำให้ไทยนำเข้าสินค้ารายการที่ลดภาษีให้ออสเตรเลียมากขึ้น ได้แก่ น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋อง, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, ช็อคโกแลตและขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลร์ แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เนื่องจากไทยนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นสัดส่วนนำเข้ารวมราว 46.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย (ทองคำ 29.3% และน้ำมันดิบ 17.15%) โดยการขยายตัวการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นถึงราว 151% และ 333% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้อัตราภาษีนำเข้าของไทยจากออสเตรเลียเป็น 0% อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจัดทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย แต่ที่ไทยนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาก เพราะความต้องการซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประกาศลอยตัวน้ำมันดีเซลของรัฐบาลจะทำให้การบริโภคน้ำมันในประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 และการนำเข้าน้ำมันดิบจาก ออสเตรเลียจะชะลอตัวลงด้วย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าโดยรวมของไทยจากออสเตรเลียในช่วงครึ่งปีหลัง 2548


  • สินค้าส่งออกไทยขยายตัว 27% ในออสเตรเลีย ช่วง 7 เดือนแรกปี 2548

สินค้าส่งออกของไทยไปออสเตรเลียที่ขยายตัวได้ดีจากการลดภาษีของออสเตรเลียภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งและ รถปิกอัพที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากออสเตรเลีย ทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งและรถปิกอัพของไทยไป ออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548 พุ่งขึ้น 260% และ 90.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547

สินค้าส่งออกอื่นๆ ของไทยที่ขยายตัวได้ดีในออสเตรเลีย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (โดยเฉพาะเคหะสิ่งทอ), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง) และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (โดยเฉพาะที่นอนหมอนฟูก และเฟอร์นิเจอร์ไม้)

- ผู้ประกอบการไทยที่มุ่งขยายตลาดส่งออกไปออสเตรเลียจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ออสเตรเลียเข้มงวดด้านความปลอดภัยในการบริโภค โดยกำหนดมาตรฐานสุขอนามัย (Sanitary and Phyto-Sanitary : SPS) ที่สูง แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า สินค้าผักผลไม้และอาหารของไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น หากคุณภาพของสินค้าไทยเหล่านี้ได้มาตรฐานและได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการบริโภคจากคน ออสเตรเลีย การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น อาหารกระป๋องและผลไม้กระป๋อง น่าจะมีโอกาสเข้าสู่ตลาด ออสเตรเลียได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องประสบอุปสรรคจากมาตรการ SPS ที่เข้มงวดของออสเตรเลีย และมีระยะเวลาการเก็บรักษาได้นานกว่า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมของไทยควรมีการพัฒนาโดยเน้นการวิจัยและออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไทย เช่น สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ขณะเดียวกันควรวางแผนด้านการศึกษาให้ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพและเพียงพอต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร

-นอกจากนี้สินค้าส่งออกประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยที่มีแนวโน้มสดใส (ขยายตัว 75.7%) ในออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยไปออสเตรเลียถึงราว 44% จะช่วยให้การส่งออกของไทยใน 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ขยายตัวได้ดี และลดการขาดดุลการค้าของไทยกับ ออสเตรเลียให้กลับมาเกินดุลการค้ากับออสเตรเลียดังเช่นปีที่ผ่านมาได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ