Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ธันวาคม 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

แนวโน้มเศรษฐกิจอินโดจีนปี 2550 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1937)

คะแนนเฉลี่ย
เศรษฐกิจอินโดจีนยังคงสดใสในปี 2550 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของลาว กัมพูชา และพม่า จะเติบโตอยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 6.6%, 6.5% และ 5.5% ตามลำดับ เทียบกับอัตราประมาณการปี 2549 อยู่ที่ระดับราว 7.3%, 5.0 และ 7.0% ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาว กัมพูชา และพม่า ในปีกุน ได้แก่ การขยายตัวภาคการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวังในปี 2550 ได้แก่ ภาวะราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น รวมถึงกระแสการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นต้น ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดจีนปี 2550 ได้แก่
1. การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง – การส่งออกของกัมพูชาขยายตัวเป็นลำดับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการที่กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในวันที่ 13 ตุลาคม 2547 ทำให้สินค้าส่งออกของกัมพูชาเข้าสู่ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้มากขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของกัมพูชา และได้รับผลดีจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอของ WTO ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยในปี 2548 การส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาขยายตัวราว 14% จาก 2,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 2,821 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่การส่งออกของลาวในปี 2550 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับลาว การที่สหรัฐฯ มอบสถานะความสัมพันธ์ทางการค้าแบบปกติ (Normal Trade Relation : NTR) ให้กับลาวในเดือนธันวาคม 2547 ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของลาวลดลง คาดว่าผลจากการลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ข้างต้น และการที่ลาวยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา ทำให้การส่งออกของลาวในปี 2549-2550 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าของลาวที่ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของลาว นอกจากนี้ การส่งออกของลาวมายังไทย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของอันดับ 1 ของลาว คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 35% ของการส่งออกของลาวทั้งหมด มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนพม่า การส่งออกของพม่ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ ประมง และผลิตผลทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากบรรดาประเทศคู่ค้าของพม่า ทั้งนี้ พม่าเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% โดยส่งออกก๊าซธรรมชาติมาไทยประเทศเดียว
2. เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าต่อเนื่อง - กัมพูชามีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ เยื่อกระดาษ ปาล์มน้ำมัน ยาง น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้า ส่วนนักลงทุนชาติอื่นในกัมพูชาที่ลงทุนมีมูลค่าสูงรองลงมา ได้แก่ ไต้หวัน รัสเซีย และไทย ตามลำดับ สำหรับลาว ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาวมากที่สุด รวม 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาขาที่ไทยเข้าไปลงทุนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า โทรคมนาคม โรงแรมและท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม-หัตถกรรมประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาวมีมูลค่าสูงรองลงมาจากไทย ได้แก่ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน ตามลำดับ สาขาการลงทุนที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การผลิตพลังงานไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในลาว ส่วนพม่า ประเภทธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นประเภทการลงทุนที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในพม่าปีงบประมาณ 2548-2549 (เมษายน 2548 – มีนาคม 2549) มีมูลค่ารวม 6,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเป็นปีที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังพม่ามากที่สุด ตั้งแต่พม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2531 เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนจากต่างประเทศดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนจากไทยที่มีมูลค่าสูงสุดกว่า 6,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
รายได้จากการท่องเที่ยวหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ - จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชา ลาว และพม่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2550 ต่อเนื่องจากขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกัมพูชา และลาว ที่อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 34.7% และ 22.4% ตามลำดับ ในปี 2548 ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในพม่าเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ในปี 2548 เมื่อเทียบกับปี 2547 สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพม่า และการย้ายเมืองหลวงของพม่าในช่วงปลายปี 2547 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเข้าพม่าในปี 2548 เพื่อรอดูสถานการณ์ความมั่นคงจากการเปลี่ยนแปลงภายในพม่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 มีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชา ลาว และพม่า จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการของอาเซียนที่ผลักดันการยกเว้นวีซ่าสำหรับประชาชนของประเทศอาเซียนในการเดินทางไปมาภายในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค รวมทั้งมาตรการภายในของประเทศัมพูชา ลาว และพม่าที่พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวของกัมพูชา ลาว และพม่า มีแนวโน้มขยายตัวในปี 2550 ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศกลุ่มอินโดจีน แต่มีข้อพึงระวังบางประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว และพม่า ในปีกุน ที่สำคัญ ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกของประเทศอินโดจีนไปตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มชะลอตัวลง, ปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง, การแข่งขันส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทออย่างรุนแรงมากขึ้นในปี 2550 จากการที่เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 11 มกราคม 2550 ทำให้เสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเวียดนามมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น เพราะเสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกจากเวียดนามจะไม่ถูกจำกัดด้วยโควตาอีกต่อไป, ภาวะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของกัมพูชาและลาว รวมทั้งปัญหาทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในพม่าที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ