Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

GDP จีนทั้งปี 2563 เติบโตเกินคาดที่ 2.3 % คาดปี 2564 โตในกรอบ 8.0-8.5 % โดยมุ่งเน้นการเติบโต แบบมีคุณภาพ และการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3907)

คะแนนเฉลี่ย

​​เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2563 ขยายตัวร้อยละ 6.5 YoY ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2563 เติบโตเกินคาดที่ร้อยละ 2.3YoY เป็นผลจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงทีและเห็นผล เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของตัวเลขค้าปลีกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในกรอบร้อยละ 4.3 – 5.0 YoY ในไตรมาสสุดท้าย และสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตครอบคลุมในหลายหมวดหมู่อุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเริ่มเห็นการฟื้นฟูได้ดีของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กลับมาได้ดีกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI Caixin) ที่ขยายตัวได้ดีกว่า (PMI CFLP) ในช่วงไตรมาส 4/2563 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 63 (ก่อนเริ่มกลับมา lock down อีกครั้งในเดือนธันวาคม 63) ส่งผลให้การส่งออกของจีนในไตรมาสนี้ ได้รับอานิสงค์ในเชิงบวกอย่างมาก โดยขยายตัวถึงร้อยละ 21.1 และ 18.1 ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2563 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2564 จะกลับมาเติบโตในกรอบร้อยละ  8.0 - 8.5 YoY จากแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ล้านคน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประสิทธิภาพและทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐยังคงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภค นอกจากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ท่ามกลางการชะลอตัวในการลงทุนของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และความไม่แน่นอนของตลาดส่งออก  

โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะแตกต่างออกไป โดยเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านคุณภาพชีวิตของประชากร และการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว เพื่อมุ่งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคต่างประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Dual Circulation" ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ที่จะบังคับใช้ในปี 2564-2568 ทั้งนี้ สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามในปี 2564 คือภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐและจีน


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ