Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 เมษายน 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/ 2564 เติบโต 18.3% (YoY) สูงสุดในรอบ 29 ปี จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ทั้งปี 2564 ยังคาดขยายตัว 8.0-8.5% (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3922)

คะแนนเฉลี่ย

​​เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1/2564 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.3 (YoY) จากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 (YoY) ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสที่สูงสุดในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่ที่จีนเริ่มเก็บสถิติในปี 2535 แต่หลักๆ แล้วมาจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 1/2563 ที่หดตัวร้อยละ (-)6.8 (YoY) เนื่องจากหากเปรียบเทียบการเติบโตรายไตรมาส ที่อาจสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า จะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 0.6 (QoQ) จากความเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการผลิตและการลงทุนที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรม รวมถึงภาพรวมการส่งออกที่ยังถูกกดดันจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดโควิด สะท้อนผ่านตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ในไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโตร้อยละ 33.9 (YoY) ในขณะที่ หากคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตัวเลขค้าปลีกในไตรมาสแรกของปี 2563 และไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.04 ในปี 2562) ในขณะที่ ภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่เติบโตในอัตราที่ต่างกันในแต่ละภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นการขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตที่ใช้อุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าเพิ่มของการผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.9 และ 31.2 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ หุ่นยนต์ไมโครคอมพิวเตอร์และวงจรรวม สอดคล้องกับ ภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ฟื้นตัวล่าช้าในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม (อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคการผลิต และการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์) แต่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพประชากร (อาทิ การลงทุนในภาคสุขภาพและภาคการศึกษา)  ในภาพรวม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) เติบโตในอัตราร้อยละ 25.6 (YoY) ในไตรมาส 1/2564  หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 (QoQ) สุดท้าย ภาพรวมการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดการส่งออกยังต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยการส่งออกในไตรมาส 1/2564 ขยายตัวร้อยละ 48.81 (YoY) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.62 (YoY) แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน การส่งออกหดตัวร้อยละ (-) 9.8 (QoQ) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.1 (QoQ) ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะสงครามการค้า แต่การส่งออกจากจีนไปยังประเทศสหรัฐกลับเติบโตสูงสุดในอัตราร้อยละ 61.3 (YoY)

​สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีน 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ไว้ในกรอบประมาณการเดิมที่ร้อยละ 8.0 – 8.5  แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกจะขยายตัวสูงกว่าที่คาด ซึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำเป็นหลัก ในขณะที่เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในประเด็นความคืบหน้าและประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน[1] รวมไปถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่คลี่คลายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งของไบเดน รวมถึงมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่ค้าจะออกมาตอบโต้จีนเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังรุมเร้า คาดว่าทางการจีน ยังมีเครื่องมือและทรัพยากรทางการเงินและการคลังมากเพียงพอ ที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่คาดการณ์ไว้


[1] โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 ประชากรจีนได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 164.5 ล้านโดส ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการได้รับวัคซีนครอบคลุม 560 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรภายในเดือนมิถุนายน 2564 และครอบคลุม 70% ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเดือนธันวาคม 2564 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ