Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 เมษายน 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 1/2565โต 4.8% (YoY) (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3969)

คะแนนเฉลี่ย

​เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2565 เติบโตร้อยละ 4.8 (YoY) และ 1.3 (QoQ) ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า โดยมีรายละเอียดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ดังนี้


-    แม้ว่าจะเห็นทิศทางการฟื้นตัวการบริโภคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของปี จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนและโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง แต่ต้องสะดุดลงในเดือนมีนาคม เป็นผลจากการ ล็อกดาวน์ในหลายมณฑลทั่วประเทศ โดยตัวเลขค้าปลีก (Retail Sale) หดตัวที่ร้อยละ (-)3.5 (YoY) ในเดือนมีนาคม นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรกในปี 2563 โดยยอดค้าปลีกลดลงในหลากหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกออนไลน์ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 3.0 (YoY) ในเดือนมีนาคม เทียบกับการเติบโตที่ร้อยละ 12.3 (YoY) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์

•    ภาคการผลิตได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงในกรอบ 8.3-9.1 (YoY) ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ กำลังเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งกดดันภาคการผลิตของจีน นอกจากนี้ การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแข้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นแรงกดดันใหม่ต่อโรงงานในจีนจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการขาดแคลนวัสดุการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์

•    การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงเติบโต โดยเฉพาะภาคธุรกิจและบริการที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ อาทิ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคที่ตอบรับนโยบายการพิงพาตนเองด้านเทคโนโลยี (Tech self-reliance) และภาคสุขภาพและการศึกษาที่ตอบรับนโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)

•    ภาคการค้าระหว่างประเทศยังคงขยายตัวดี ท่ามกลางผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อการจัดส่งที่ล่าช้าที่ท่าเรือสำคัญหลายแห่ง และภาคการผลิตเพื่อส่งออกในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในไตรมาสที่ 1 ภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวร้อยละ 10.7 (YTD,YoY) แตะระดับ 9.42 ล้านล้านหยวน โดยภาคส่งออกขยายตัวร้อยละ 13.4 (YTD,YoY) แตะระดับ 5.23 ล้านล้านหยวน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.5 (YTD, YoY) แตะระดับ 4.19 ล้านล้านหยวน

•    การแพร่ระบาด-19 ระลอกใหม่นี้ กดดันภาคการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ ในเดือนมีนาคม อัตราการว่างงานสำรวจ 31 ในเมือง เพิ่มขึ้นแตะระดับ 6.0% จาก 5.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ และอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับ 5.8% จาก 5.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 2564 (อัตราการว่างงานในกรอบ 4.9 – 5.1%) ทั้งนี้ การว่างงานในนักศึกษาจบใหม่ ช่วงอายุ 16-24 ปี มีความน่าเป็นห่วงที่สุด โดยอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาที่ 16.0% จาก 15.3%


    แม้เศรษฐกิจจีนจะแสดงแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสแรก แต่จีนยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการผิดนัดชำระหนี้ทยอยออกมาใหม่ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนต่อไป นอกจากนี้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มแรงกดดันให้กับนโยบาย Zero-Covid ของจีน  และการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีหากมีการระบาดไปยังเมืองต่างๆ ของจีนมากขึ้น ทำให้การบริโภคฟื้นตัวได้ช้า และเพิ่มแรงกดดันด้านโลจิสติกส์ต่อผู้ส่งออก ดังนั้น จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจจีนเผชิญส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 4.4-4.8 โดยแรงหนุนหลักยังคงมาจากแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการจีน การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การส่งออกที่ยังเติบโตได้ ในขณะที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนรวมถึงแนวทางของจีนที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมาย Zero-Covid ในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ