Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กันยายน 2565

เศรษฐกิจไทย

คาดปี’65 ค่าใช้จ่ายกินเจของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท โดยจำนวนวันและมื้อที่ทานเจลดลง ขณะที่ราคาอาหารเจเพิ่มขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3346)

คะแนนเฉลี่ย

​ด้วยราคาอาหารเจที่อาจถูกปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพืชผลเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารเจ โดยเฉพาะกลุ่มผักและวัตถุดิบอย่างเต้าหู้ ซึ่งมักจะมีราคาปรับขึ้นอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ ส่งผลให้แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย แต่สัดส่วนของคนกรุงเทพฯ ที่เลือกกินเจช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังปรับพฤติกรรมโดยการลดวันที่กินเจลง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เพิ่มสูงเกินไป

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการบริโภคอาหารเจของคนกรุงเทพฯ น่าจะหดตัวราว 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ ราคาอาหารเจอาจปรับขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อน ส่งผลให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท หรือขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

    โดยพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ ที่เน้นระมัดระวังกับการใช้จ่าย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางแบบตักขายและนั่งทานในร้าน ยังถูกเลือกใช้บริการมากที่สุด เนื่องจากระดับราคาไม่สูงมากและสะดวกในการเข้าถึง ขณะที่สัดส่วนของการเข้าไปใช้บริการจากร้านอาหารเจและการสั่งซื้อจากเดลิเวอรี่ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงความคุ้นชินกับการใช้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว โดยปัจจัยในการเลือกอาหารเจยังคงมาจากรสชาติ ราคาและความสะดวกในการซื้อหา

        ดังนั้น โจทย์สำคัญของธุรกิจอาหารเจในปีนี้ จึงอยู่บนความท้าทายด้านการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่ไปกับการชูจุดขายด้านราคาที่คุ้มค่า ภายใต้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่จูงใจให้คนเลือกซื้อหรือใช้บริการ ขณะที่ทิศทางของการบริโภคอาหารเจในระยะข้างหน้า จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่หันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์เติบโตมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอาหารเจ วีแกน รวมถึงโปรตีนทางเลือก มีโอกาสที่จะเพิ่มอัตราการบริโภคได้อีกไม่เฉพาะเทศกาลกินเจ แต่การจะไปต่อได้ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มผันผวน ผู้ประกอบการควรวางแผนรับมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านวัตถุดิบและแนวทางในการเพิ่มโอกาสทางการตลาดในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม