Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กุมภาพันธ์ 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3186)

คะแนนเฉลี่ย

​ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกในตลาด EU และสหรัฐ ฯ คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเมียนมา ดังนั้น หาก EU และสหรัฐ ฯ พิจารณาเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย ที่จะถูก EU เรียกเก็บภาษีประมาณ 12% รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเดินทางที่จะถูกสหรัฐ ฯ เรียกเก็บภาษีประมาณ 20% ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเมียนมา และที่สำคัญเมียนมาเพิ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐ ฯ สูงถึง 60% ในสินค้ากลุ่มนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ ฯ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% ในปี 2564

               ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 22% จากการลงทุนของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า หากการส่งออสินค้ากลุ่มนี้ต้องถูกเรียกภาษีนำเข้าจาก EU อีกประมาณ 12% ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน อาจไม่เพียงพอกับต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาลดลง 30%-40% ในปี 2564

สำหรับในระยะยาว หากมีการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าจากทั้ง EU และสหรัฐฯ แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาเพื่อส่งออกไปยังสองตลาดนี้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในเมียนมาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายทะเลทางตะวันตกของเมียนมา แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ไม่เน้นภาคอุตสาหกรรม จึงอาจไม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมียนมาได้มากนัก

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การค้าชายแดนไทย เมียนมาจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยหดตัวประมาณ (-)0.5% ในปี 2564  สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ ตลอดจน ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ได้ในอนาคต 










                       



                                                                                                                                               ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ