Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มกราคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสแรก...แต่อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2563 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3846)

คะแนนเฉลี่ย

​        ​   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พัฒนาการโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้นยังสนับสนุนให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยในช่วงไตรมาส 1/2563 อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก แต่ข้อตกลงดังกล่าวคงไม่ช่วยให้ภาคการผลิตสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาคการผลิตของสหรัฐฯ เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมไปถึงการชะลอของเศรษฐกิจโลกซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี ISM ภาคการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันกว่า 5 เดือน ในขณะที่ข้อตกลงการค้าในเฟสแรกลดอัตราภาษีที่สหรัฐฯจัดเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นปลาย โดยที่สินค้าขั้นกลางที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนซึ่งเป็นวัตถุดิบของภาคการผลิตยังคงถูกเก็บภาษีในระดับสูง นอกจากนี้ปัจจัยการค้าโลกยังคงชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำตลอดจนความไม่แน่นอนประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ/เศรษฐกิจขนาดใหญ่มีโอกาสจะปะทุขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้หากเครื่องชี้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ไม่สามารถฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้และการชะลอลงของภาคการผลิตส่งผ่านไปยังตลาดแรงงาน สถานการณ์ดังกล่าวคงเป็นเงื่อนไขที่กดดันให้เฟดอาจมีการพิจาณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2/2563

            นอกจากนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา  (2019-nCoV) ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าของจีน ตลอดจน ส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคทั่วโลก รวมทั้ง สหรัฐฯ หากสถานการณ์การระบาดลุกลามออกไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อความสามารถของจีนในการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าที่จีนจะต้องมีการซื้อสินค้าเพิ่มจากสหรัฐฯ มูลค่า 77 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปีนี้ และ 123 พันล้านดอลลาร์ฯในปีหน้า ซึ่งในกรณีที่ทางการจีนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การเจรจาการค้าเฟสต่อไปอาจจะต้องล่าช้าออกไปอย่างยากที่จะคาดการณ์ได้

            มองไปข้างหน้า โอกาสที่เฟดจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นหลักประกันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยังมีอยู่ แม้ว่าในอดีตเฟดมักจะหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงก่อนการเลือกตั้งมักจะสอดคล้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขยายตัวยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ซึ่งนั่นหมายความว่า มีโอกาสที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักประกันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ