Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มีนาคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เฟดประชุมฉุกเฉิน ลดดอกเบี้ยลง 0.50% มาที่กรอบ 1.00-1.25%...ยังมีโอกาสลดต่อเพื่อสกัดความเสี่ยงโควิด-19 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3852)

คะแนนเฉลี่ย

​​​               ​ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่กรอบ 1.00-1.25% ในการประชุมนัดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 ซึ่งสะท้อนว่า เฟดปรับมุมมองที่มีต่อเรื่องผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน-ภาคธุรกิจ และภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปใน เชิงลบ""มากขึ้น จึงทำให้ไม่สามารถรอเวลาจนถึงรอบการประชุมนโยบายการเงินตามปกติซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากนี้ได้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงต้องติดตามการส่งสัญญาณของเฟด และการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการประชุมตามวาระปกติของเฟดวันที่ 17-18 มี.ค. ที่จะถึงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงการประเมินระดับความเสี่ยงและขนาดความรุนแรงของผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า

            ระดับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระยะข้างหน้า ทำให้ยังตลาดการเงินประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.50% ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า เริ่มสะท้อนโอกาสประมาณ 9% ที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกลับไปอยู่ในกรอบ 0.00-0.25% ในกรณีที่การระบาดของ COVID-19 รุนแรงในวงกว้าง และกระจายตัวไปยังหลายๆ ประเทศมากขึ้น

            สำหรับประเทศไทยนั้น แนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย และผลกระทบที่มากขึ้นตามระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย (จากปัจจุบันที่ 1.00%) ลงอย่างน้อย 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 25 มี.ค. 2563 นี้ ซึ่งคาดว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงตามอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินลงได้ระดับหนึ่งในระหว่างที่มาตรการทางการคลัง และมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนกำลังลงไปสู่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ