Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุม 28-29 เม.ย. นี้ โดยดอกเบี้ยติดลบจะยังไม่จำเป็นในช่วงนี้ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3863)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัวถึง 5.9% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงเทียบเท่ากับในช่วง The Great Depression ปี 1930 ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างรุนแรงหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังด้วยวงเงินที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมนอกรอบถึง 2 ครั้งสู่ระดับ 0-0.25% อีกทั้งยังได้ออกมาตรการ QE แบบไม่จำกัดวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ รวมถึงมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนผ่านทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเฟดยังจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 เมษายนนี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ น่าจะยังไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้ เนื่องจากเฟดคงรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว นอกจากนี้ การตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับมุมมองของเฟดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า หากเฟดประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะสามารถควบคุมได้ในระยะอันใกล้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ตามมาได้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะจำกัดในปีนี้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาฟื้นตัวในระดับสูงได้ในปีหน้า การปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราติดลบจึงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมและจำเป็นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยลงเป็นอัตราติดลบจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มไปในเชิงลบมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลในตลาด และมีผลต่อเสถียรภาพในภาคการเงิน

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไปกว่าที่ประเมิน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้อ่อนแรงลงไปอีก เฟดน่าจะเลือกทำ QE เพิ่มเติมจากการประกาศวงเงินที่ไม่จำกัด เพื่อเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ควบคู่ไปกับมาตรการทางการคลังที่อาจจะมีเพิ่มเติม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ