Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 พฤษภาคม 2561

เศรษฐกิจไทย

ภาวะเศรษฐกิจกดดัน คาดเปิดเทอมใหญ่ปี’ 61 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ใช้จ่ายสะพัด 27,500 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2910)

คะแนนเฉลี่ย

​​​          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 จำนวน 400 คน ครอบคลุมสาขาอาชีพหลัก และระดับรายได้ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36 ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ในขณะที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระหนี้สิน เพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 นี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่คงที่ เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว ยกเว้นค่าชุดนักเรียน ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง และค่าเรียนเสริมทักษะ เช่น ภาษาต่างประเทศ ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว โดยเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สำคัญ อย่างค่าเทอม ยังไม่มีการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้จ่ายสินค้าด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น อย่างระมัดระวัง โดยมองหาสินค้าที่มีราคาไม่แพง หรือซื้อในจำนวนที่ลดลง เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว อีกทั้งจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 น่าจะยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับในปีการศึกษา 2560

           ทั้งนี้ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านการศึกษา ยังคงต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรึงราคาสินค้า รวมถึงแนวโน้มที่ผู้ปกครองปรับลดค่าใช้จ่ายสินค้าด้านการศึกษา อีกทั้งยังมองหาสินค้าราคาไม่แพง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 เป็นไปอย่างรุนแรงขึ้น ในขณะที่ โรงเรียนกวดวิชาบางรายทยอยปิดสาขาบางสาขาลง ซึ่งแนวโน้มการเรียนกวดวิชาน่าจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนการสอนผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น e-Learning สื่อมัลติมีเดีย สื่อออนไลน์ เป็นต้น มากขึ้น ในส่วนของสถาบันเสริมทักษะต่างๆ ยังได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุตรหลาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังสามารถเร่งทำการตลาดเพื่อขยายฐานนักเรียนใหม่ๆ ได้



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม