Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 สิงหาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

วิกฤตค่าเงินตุรกี ... ผลโดยตรงต่อภาคการเงินไทยยังอยู่ในกรอบจำกัด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2924)

คะแนนเฉลี่ย

        ตลาดการเงินทั่วโลก ยังคงเฝ้าจับตาความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตของค่าเงิน Lira ตุรกีอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ในขณะนี้ค่าเงิน Lira จะฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วน (หลังร่วงแตะระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 7.2362 ต่อดอลลาร์ฯ เมื่อ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา) แต่คงต้องยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงที่เงิน Lira จะเผชิญแรงเทขายอีกหลายระลอก ท่ามกลางข้อจำกัดของเครื่องมือ/ทรัพยากรที่จะใช้ดูแลความผันผวน ขณะที่ ความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีเอง ก็อาจไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

         อย่างไรก็ดี  เป็นที่น่าสังเกตว่า แรงกดดันต่อค่าเงิน Lira โดยหลักๆ แล้ว จะมาจากปัจจัยของตุรกีเป็นสำคัญ (โดยเฉพาะความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และประเด็นทางการเมืองภายใน) เนื่องจากในขณะที่ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงแล้ว 36.8% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียกลับเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าน้อยกว่า ขณะที่ ในส่วนของเงินบาทนั้น ขยับอ่อนค่าในกรอบที่จำกัด และอ่อนค่าลงเพียง 2.0% นับจากต้นปีที่ผ่านมา  

      ​สำหรับความเชื่อมโยงผ่านกองทุนรวมนั้น จากข้อมูลของสำนักงานก.ล.ต. ระบุว่า การลงทุนของกองทุนรวมไทยในตุรกีมีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไทย อย่างไรก็ดี หากระดับความเสี่ยงของวิกฤตตุรกีมีความรุนแรงมากขึ้นแล้ว  ผลกระทบระลอกที่ 2 ที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการธนาคารของหลายๆ ประเทศในยุโรป อาจทำให้ขนาดความเชื่อมโยงของกองทุนรวมไทยที่ต้องติดตามจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ยอดคงค้างของเงินลงทุนในประเทศยุโรปเหล่านั้น (รวมกับตุรกี) น่าจะมีสัดส่วนรวมกันไม่เกิน 1.4% ของยอดคงค้างเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของกองทุนรวมไทย สำหรับภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคธนาคารในตุรกีค่อนข้างน้อย และสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบก่อนๆ โดยเปรียบเทียบ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ