Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มีนาคม 2562

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาประชุมเฟด ผลการเจรจาสหรัฐฯ-จีน และปัจจัยในประเทศ...อาจมีผลต่อทิศทางเงินบาทในระยะสั้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2971)

คะแนนเฉลี่ย

​            ​​​​ เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นเดือนมี.ค. 2562 หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 5 มี.ค. 2562) ท่ามกลางแรงกดดันที่มาจากหลายด้าน ทั้งปัจจัยในประเทศ ตลอดจนแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ จากหลายกลุ่ม นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาท ยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ในอีกด้านหนึ่ง เงินดอลลาร์ฯ ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลเช่นกัน โดยเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ภายหลังจากที่มีสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

          อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพที่ค่อนข้างเร็วและมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยหากเทียบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค. 2562 จะพบว่า ในขณะที่ ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้น (แข็งค่า) ประมาณ 0.3% เงินบาทกลับอ่อนค่าลงถึง 2.4% ซึ่งมากกว่าเงินเยนญี่ปุ่น และเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย ซึ่งอ่อนค่าตามมาที่ประมาณ 1.0% และ 0.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าความผันผวนของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ยังขยับขึ้นมาที่ 5.1% ซึ่งสูงขึ้นกว่าค่าความผันผวนของปี 2561 ที่อยู่ที่ 4.6% ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

            สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ จะมีทั้งปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย และปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 19-20 มี.ค. 2562 และกำหนดการพบกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ในวันที่ 27 มี.ค. 2562 ซึ่งแม้จะมีสัญญาณในเชิงบวก แต่คงต้องยอมรับว่า ยังคงคาดเดารายละเอียดของผลการเจรจาได้ยากในขณะนี้ ทั้งนี้ จากการที่ยังคงมีอีกหลายตัวแปร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรออยู่ในระยะข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างผันผวนต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา

​​

เศรษฐกิจต่างประเทศ