การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้เติบโตชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน โดยผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ช่องทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน (แต่ไม่เกิน 6 เดือน) อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราวร้อยละ 1.0 และลงไปแตะที่ระดับประมาณร้อยละ 4.7
ทั้งนี้ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า หากพิจารณา 3 ช่องทางหลักที่เศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากจีนมายังอาเซียนในอัตราส่วนที่สูงที่สุด เนื่องจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงมักมีความผันผวนอย่างมากไปตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยหาก GDP ของจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนไปยังอาเซียนคาดว่าจะลดลงถึงราวร้อยละ 2.8 ขณะที่ รายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมูลค่าการส่งออกไปยังจีนของอาเซียนจะลดลงประมาณร้อยละ 1.5 และ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ดังนั้น จากการประเมินผลกระทบผ่านทาง 3 ช่องทางหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจอาเซียนในกรอบ 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07-0.11 ของ GDP อาเซียนทั้งหมด สำหรับกรณีของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในกรอบประมาณ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.09-0.13 ของ GDP ทั้งปีของไทย โดยภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบสูงสุดถึงราว 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของแต่ละประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาถึงสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่า ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูง ขณะที่ในส่วนของไทย สัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอาจอยู่ในระดับปานกลาง เทียบเคียงกับมาเลเซียและเมียนมา ขณะที่บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี นอกจากสัดส่วนการพึ่งพาจากจีน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนยังขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง โครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวเพื่อลดทอนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น