Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กรกฎาคม 2564

สถาบันการเงิน

ผลประกอบการแบงก์ไทยไตรมาส 2/64 ... กำไรสุทธิชะลอจากไตรมาสก่อน กันสำรองเพิ่มเตรียมรับโควิดยืดเยื้อ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3939)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบ ธ.พ.ไทยในไตรมาส 2/2564 อาจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งถูกกระทบจากโควิดรอบแรก แต่ระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2564 ดังกล่าว จะชะลอลงมาที่ 3.48 หมื่นล้านบาท จากที่บันทึกกำไรสุทธิที่ 3.87 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ปะทุขึ้นเป็นรอบที่สามเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องมาที่รายได้จากธุรกิจหลักของธ.พ. และทำให้ธ.พ. ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ เพิ่มมากขึ้น

หากย้อนกลับมามองที่สถานการณ์ NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ แม้ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ แต่ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อรายได้ของลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจเป็นเวลานาน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 3.15-3.25% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2/2564 จากระดับ 3.10% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2564 โดยยังคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การประคองผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงขึ้นอยู่กับการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด 19 การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีน ตลอดจนการเยียวยาภาคส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤตโควิดที่ทันต่อสถานการณ์ และสำหรับโจทย์ภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญของสถาบันการเงิน น่าจะอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อยในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 10 จังหวัด โดยจากข้อมูลธปท. สินเชื่อ SMEs และรายย่อยใน 10 จังหวัดดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31.9% ของสินเชื่อรวม ณ ไตรมาสที่ 1/2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน