แม้ในไตรมาส 2/2566 จะมีแรงหนุนจากดอกเบี้ยที่ทยอยขยับขึ้น แต่สินเชื่อที่ขยายตัวช้าลงมาอยู่ในกรอบ 0.5-0.8% YoY อาจส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยและ NIM ของระบบแบงก์ไทยขยับขึ้นได้ในกรอบจำกัด โดยคาดว่า NIM จะปรับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 2.96-3.00% นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวแบบเปราะบางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมีแรงหนุนน้อยลง โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในไตรมาสที่ 2/2566 อาจชะลอการขยายตัวมาอยู่ในกรอบ 3.5-5.0% YoY ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่น่าจะยังคงกันสำรองฯ แบบระมัดระวัง เพราะสัดส่วน NPL มีโอกาสขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.68-2.72% ต่อสินเชื่อรวมไตรมาสที่ 2/2566
ต่อภาพออกไปในระยะข้างหน้า กฏเกณฑ์ กรอบกติกา และมาตรการของทางการที่กำลังอยู่ระหว่างทบทวนและหารือในรายละเอียด ซึ่งอาจเริ่มทยอยประกาศออกมาในช่วงหลังจากนี้ อาจมีนัยต่อเนื่องมาที่รายได้หลักของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) เกณฑ์การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based pricing) และมาตรการ MacroPrudential Policy น่าจะมีผลต่อเนื่องต่อการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉพาะรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก และรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่การเข้ามาดูแลโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทางการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน ก็อาจมีผลจำกัดกรอบการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการทั้งหมดล้วนเป็นกติกาใหม่ที่มีผลต่อการดำเนินงานที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมกลยุทธ์และเร่งปรับตัว ควบคู่ไปกับการรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น