ภาพรวมสินเชื่อสุทธิในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นปี 2560 ขยายตัวในอัตราเร่งตามคาด จากแรงสนับสนุนหลักของความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจ สินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เริ่มขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิในเดือน ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 2.2 แสนล้านบาท นับเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสุทธิรายเดือนที่มากที่สุดในรอบ 4 ปี ที่ 2.0% MoM และทำให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิทั้งปี 2560 ดีดตัวขึ้นมาที่ 4.3% YoY เป็น 11.06 ล้านล้านบาท
ด้านเงินฝาก เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.36 แสนล้านบาท หรือ 1.14% MoM เป็น 12.11 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นสิ้นปีก่อน 6.5% โดยเงินฝากที่เข้ามาในเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่จะชะลอการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดก็ตาม ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนเงินฝากเพื่อบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับคงที่ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยแคมเปญเงินฝากพิเศษออกใหม่ยังคงทรงตัว
สภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากสินเชื่อที่โตในลักษณะ MoM ดีกว่าเงินฝาก ประกอบกับยอดคงค้างจำนวนเงินกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้ของธนาคารปรับตัวลดลง ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน ธ.ค. 2560 ตึงตัวขึ้นเป็น 91.20% จากระดับ 90.05% ในเดือน พ.ย. สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับลงมาที่ 21.66% จากระดับ 22.47% ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มในปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อสุทธิยังมีโอกาสขยายตัวสูงขึ้นกว่าระดับ 4.3% ในปี 2560 ด้วยอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยสินเชื่อธุรกิจจะยังเป็นตัวนำการเติบโต ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเติบโตได้แต่ไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก จากข้อจำกัดด้านหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) คงจะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2560 ทำให้ธนาคารจะยังคงนโยบายเครดิตอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง เพื่อลด Credit Cost จากความจำเป็นในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ในระดับสูง ประกอบกับธนาคารเริ่มเตรียมการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะมีผลต้นปี 2562 ซึ่งอาจกระทบต่อการคำนวณการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่หนี้ปกติ ที่จะต้องเพิ่มกรอบการประเมินความเสี่ยงตลอดอายุสัญญาสินเชื่อ (Life Time) อันอาจส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ให้เพิ่มขึ้นด้วย
นต่อเนื่องจากที่ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเงินฝากตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อประคองรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการจัดสรรสภาพคล่องให้สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี อาจมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่จูงใจลูกค้า โดยเฉพาะแคมเปญเงินฝากที่ลูกค้าเปิดบัญชีด้วยตนเองในช่องทางดิจิทัลที่สามารถช่วยลดต้นทุนแฝงทั้งด้านพนักงานและงานเอกสารอื่น ขณะที่ผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวบางส่วน อาจทยอยออกมาในช่วงปลายปี หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น และสินเชื่อขยายตัวได้ต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น