Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 สิงหาคม 2561

สถาบันการเงิน

ประชุมกนง. 8 ส.ค. 2561 คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ... เพื่อดูแลความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3755)

คะแนนเฉลี่ย

              ​​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง. รอบที่ห้าของปี 2561 ในวันที่ 8 ส.ค. 2561 นี้เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในประเทศมีการกระจายตัวมากขึ้น ตลอดจน ช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการของเงินเฟ้อไทยขยับขึ้นสู่เป้าหมายอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้คงต้องยอมรับว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียหลายแห่ง รวมทั้ง ธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางแคนาดา มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปีนี้ อันเป็นการส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ปัจจัยที่กดดันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยยังไม่มาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงทรงตัวในระดับที่ต่ำ โดยยังคงเคลื่อนไหวในกรอบล่างของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย ขณะเดียวกันการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นการไหลออกของเงินทุน และการอ่อนค่าลงของเงินบาทยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ กนง. น่าจะยังให้น้ำหนักกับปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไป 

            มองไปข้างหน้า  คณะกรรมการนโยบายการเงินไทย คงจะส่งสัญญาณในการตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกระยะ ขณะที่สถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจเพิ่มความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในอาเซียน ทั้งนี้ ความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยในระยะสั้น ทำให้ กนง. ยังสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ เพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มห่างกันมากขึ้น คงน่าจะส่งผลให้การทยอยไหลออกของเงินทุนจากตลาดการเงินไทยคงมีอย่างต่อเนื่อง และอาจกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง และน่าจะยืดเยื้อออกไปอีกระยะ อาจจะนำมาสู่ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย เนื่องจาก ธนาคารกลางจีนได้มีการส่งสัญญาณในการดูแลเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้ค่าเงินหยวน รวมทั้งค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคให้อ่อนค่าลง ขณะเดียวกันความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้น อาจจะส่งผ่านผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศในอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนในระดับสูง รวมทั้ง อาจทำให้เงินทุนไหลออกมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเงินของประเทศเหล่านั้นปรับเพิ่มขึ้นตาม อันคงเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในอาเซียนรวมทั้ง ไทย ในระยะต่อไป  




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน