แนวนโยบายรัฐที่จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยกำหนดให้เป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เป็นก้าวสำคัญในการขยายขอบเขตการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการรายย่อย รวมถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มอาชีพอิสระที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบ จากการกำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โปร่งใส และมีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุผล
สาระสำคัญของแนวทางการกำกับดูแลนี้ แบ่งผู้ให้บริการเป็น 2 กลุ่มตามขนาดทุนและขอบเขตการทำธุรกิจ โดยมีความต่างที่เพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าไม่เกิน 28% สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินและ Non-Bank ที่มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท และไม่เกิน 36% สำหรับพิโกไฟแนนซ์ ที่มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ายังต้องติดตามการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการ Non-Bank ที่บางส่วนคงถูกกระทบจากข้อกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในรายที่เน้นปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยในกลุ่มที่มีแนวโน้มความเสี่ยงสูง ทั้งจากคุณลักษณะด้านอาชีพอิสระ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและ/หรือเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน รวมทั้งกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ซึ่งยากต่อการติดตามทวงถามหนี้
ขณะที่แนวปฏิบัติที่ให้มีการยกเว้นดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับกรณีลูกค้าปิดบัญชีสินเชื่อก่อนครบกำหนดสัญญา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คาดว่าจะกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจและรายได้ของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เนื่องจากปัจจุบันการปิดบัญชีสินเชื่อก่อนกำหนดในกรณีที่มีการโอนเล่มและทำสัญญาเช่าซื้อ สคบ. ให้เรียกเก็บดอกเบี้ยในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ในอัตรา 50% และหากเป็นการให้สินเชื่อในลักษณะโอนลอย และทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย 2% ของเงินต้นคงค้างเมื่อลูกค้าขอปิดบัญชีก่อนกำหนด ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับที่ใช้ในกรณีที่ลูกค้าปิดบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนกำหนด 3 ปี
ดังนั้น ทางการคงต้องดำเนินการหรือพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีทางเลือกน้อยในการใช้บริการกับสถาบันการเงินในระบบ โดยอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจให้มีผู้ประกอบการเข้ามาดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เพื่อลดการผูกขาดในตลาดและลดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องรับภาระลง
สำหรับผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียนในระยะที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ขณะที่ผลข้างเคียงจากปัจจัยอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่มาตรการใหม่) คงมีอิทธิพลต่อภาพรวมสินเชื่อจำนำทะเบียนมากกว่า อาทิ ฐานที่สูงของปีก่อน และการที่ลูกค้าเป้าหมายบางส่วนขายรถเก่าที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์เพื่อซื้อรถใหม่ทดแทน ท่ามกลางภาวะที่ตลาดรถใหม่และรถใช้แล้วที่กลับมาคึกคักขึ้นหลังสิ้นสุดผลของโครงการรถคันแรก ซึ่งมีผลตามมาให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยังไม่สามารถขอสินเชื่อจำนำทะเบียนได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนปี 2561 จะเติบโต 10% YoY เทียบกับ 14.6% ในปี 2560
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น