Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ตุลาคม 2562

สถาบันการเงิน

สินเชื่อธุรกิจที่ยังแผ่วตัว จำกัดกรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อธ.พ. เดือนก.ย. 2562 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3829)

คะแนนเฉลี่ย

​         สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2562 ยังเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด เนื่องจากสินเชื่อภาคธุรกิจยังคงแผ่วตัวลง ท่ามกลางสัญญาณชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งเพื่อดูแลประเด็นทางด้านคุณภาพสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอียังค่อนข้างทรงตัว ซึ่งจากภาพรวมดังกล่าว ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย ยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวม

               ทั้งนี้ สัญญาณที่อ่อนแอของการเบิกใช้สินเชื่อธุรกิจ ส่งผลทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 1.32 หมื่นล้านบาท มาที่ 11.79 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าที่เพิ่มขึ้นถึง 2.69 หมื่นล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2562 อย่างไรก็ดี ด้วยผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนกันยายนปีก่อน ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อสุทธิในเดือนกันยายน 2562 เพิ่มขึ้น 3.92%  YoY จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ขยับขึ้นจาก 3.84% YoY ในเดือนสิงหาคม 2562) และเพิ่มขึ้น 1.35% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561

      ​​   ภาพรวมเงินฝากในเดือนกันยายน 2562 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนในระดับที่สอดคล้องกับสินเชื่อ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของทิศทางเงินฝากของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในเดือนนี้ มีทั้งกลุ่มที่เงินฝากเร่งตัวขึ้นมาก อาทิ เงินฝากประจำระยะยาว/ประจำพิเศษของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  และกลุ่มที่เงินฝากลดลงมาก ซึ่งเป็นไปตามการบริหารจัดการสภาพคล่องและการจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาวที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดคงค้างเงินฝากในเดือนกันยายน 2562 เติบโต 4.84% YoY ซึ่งสูงสุดในรอบ 11 เดือน 

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถประคองอัตราการเติบโตได้ในกรอบประมาณ 4.0% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งนี้ แม้ว่าจังหวะการเติบโตของสินเชื่อจะยังคงต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คาดว่า สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี จะได้รับแรงหนุนสำคัญจากปัจจัยด้านฤดูกาล (ซึ่งเป็นเทศกาลการจับจ่ายใช้สอยและช่วงวางแผนของภาคธุรกิจ) ที่น่าจะทำให้ปริมาณการเบิกใช้สินเชื่อ ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี  


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน