สินเชื่อสุทธิในเดือน ต.ค. 2562 ลดลงจากเดือนก่อน 8.77 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางแรงกดดันของสินเชื่อในแทบทุกธนาคาร โดยเฉพาะจากการชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรัฐบาล อย่างไรก็ดี สินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อไม่มีหลักประกันอื่นๆ ยังขยายตัวสูงตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อบ้านยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนแม้จะเป็นอัตราที่ช้าลง ซึ่งจากภาพดังกล่าวทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิ ณ เดือน ต.ค. 2562 ชะลอลงมาที่ 11.702 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.40% YoY จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ชะลอลงจากขยายตัว 3.92% YoY ในเดือนก.ย. 2562 สอดคล้องกับสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของความต้องการในการเบิกใช้สินเชื่อ
เงินฝากในเดือนต.ค. 2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนกว่า 1.36 แสนล้านบาท สวนทางกับสินเชื่อที่ลดลง ทำให้สภาพคล่องในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio) ชะลอลงมาที่ 95.1% หลังจากที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 96.8% ตลอดในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดคงค้างเงินฝาก ณ เดือนต.ค. 2562 ขยับขึ้น 4.02% YoY มาที่ 13.006 ล้านล้านบาท นำโดย ธนาคารพาณิชย์บางแห่งในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินฝากเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเงินฝากภาครัฐในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ ตลอดจนเงินฝากประจำพิเศษระยะสั้น อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์การชะลอการออกแคมเปญเงินฝากในเดือนต.ค. 2562 โดยแคมเปญที่ออกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 12 เดือน
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2562 นั้น แม้จะมีอานิสงส์จากการเบิกใช้สินเชื่อตามปัจจัยเชิงฤดูกาล แต่ภาพรวมสินเชื่อทั้งปี 2562 อาจต่ำกว่า 4.0% ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะยังขยายตัวสูงในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี อีกทั้งภาคธุรกิจบางส่วนคงทยอยเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่เนื่องจากสินเชื่อในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ประกอบกับภาพเศรษฐกิจในปีหน้ายังไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่เด่นชัดนัก ทำให้คาดว่าความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีในปีนี้ จะขยายตัวในกรอบที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งย่อมมีผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อทั้งปี 2562 อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 4.0% สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น