ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อส่วนบุคคลจะสามารถรักษาแรงส่งได้ต่อเนื่องในปี 2562 โดยเติบโตในกรอบ 7.5-9.0% ตามแรงผลักดันของผู้ให้บริการโดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งเป้าหมายสินเชื่อในเชิงรุก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปภายใต้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งคงจะเห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีโอกาสโตกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ขณะที่ กลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดใหม่ๆ คงหนีไม่พ้นการพัฒนาช่องทางดิจิทัล ซึ่งผู้ให้บริการคงต้องออกแบบกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถปิดหรือบรรเทาความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
โดยในปี 2562 ช่องทางดิจิทัลจะยังเป็นช่องทางศักยภาพในการเจาะตลาดใหม่ ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเดินหน้าพัฒนาช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ที่ใหญ่ขึ้น โดยมุ่งทำให้ช่องทางดิจิทัลสามารถเริ่มต้นและจบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วน (End-to-End Process) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวในทางปฏิบัติ จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมกระบวนการเครดิตต่างๆ โดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และคัดกรองลูกค้า ซึ่งคงต้องดำเนินการควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าด้วย
อย่างไรก็ดีความท้าทายของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงอยู่ที่การรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อในระยะต่อไป เนื่องจากประการแรก การขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากกว่าลูกค้าเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการมีข้อมูลทางการเงินและข้อมูลเชิงพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มใหม่เพียงบางส่วน ประการที่สอง สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการชำระหนี้สูง และประการที่สาม เส้นทางการพัฒนาโมเดลการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลนั้น อาจต้องอาศัยบทพิสูจน์เพิ่มเติมจากการผ่านวัฏจักรเศรษฐกิจและธุรกิจที่มากพอ เพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็นและมากพอต่อการพัฒนาโมเดลการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัล แม้จะเป็นช่องทางศักยภาพแต่เนื่องจากผู้ให้บริการยังต้องใช้ความระมัดระวัง ซึ่งคาดว่าตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านผ่านช่องทางดิจทัลจึงยังมีขนาดเล็กในระยะแรก และการทำตลาดส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยช่องทางเดิมคู่ขนานไปด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น