Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 เมษายน 2562

สถาบันการเงิน

กำไรสุทธิของกลุ่มธ.พ. ในไตรมาส 1/2562 ได้แรงหนุนจากการบันทึกรายการพิเศษ ... แต่มีหลายเงื่อนไขทางธุรกิจที่ยังรอติดตาม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2984)

คะแนนเฉลี่ย

​​             กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2562  กำไรเติบโตดี...แต่จากรายการพิเศษ โดยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งบันทึกกำไรสุทธิรวม 5.51 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2562 เพิ่มขึ้น 35.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 และขยับขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 เนื่องจากรายได้และกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างไตรมาส ทั้งจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและการรับรู้รายได้จากการขายสินทรัพย์ สามารถชดเชยจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ และลดทอนแรงฉุดจากผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้

            เมื่อหักผลของรายการพิเศษ  เพื่อประเมินภาพที่แท้จริงของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีเงินได้ ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 6.57 หมื่นล้านบาท (เทียบกับ 7.39 หมื่นล้านบาทตามที่ปรากฎในงบการเงิน) ทั้งนี้ แม้กำไรดังกล่าวจะยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 แต่ก็เป็นระดับที่ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 ซึ่งอยู่ที่ 6.89 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/2562 และเป็นที่น่าสังเกตว่า หากปรับผลของรายการพิเศษออกไปแล้ว จะพบว่า NIM ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลับชะลอลงมาอยู่ที่ 3.13% นอกจากนี้ ทิศทางที่ดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินการฯ ยังเป็นผลมาจากการลดลงของการบริหารจัดการด้านต้นทุน และการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายในการกันสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญด้วยเช่นกัน

            ​ มองไปข้างหน้า แม้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีแนวทาง/วิธีในการรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวที่แตกต่างกัน แต่การประคองความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ (Core Business) ยังคงเป็นความท้าทายที่รออยู่ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2562 อาทิ การหารายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ มาทดแทนรายได้ที่หายไปจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล การประคองอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ และการดูแลปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังเผชิญโจทย์ท้าทายในการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม