คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5:2 เสียงให้ “ลด" อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี มาที่ 1.50% จาก 1.75% ในการประชุมวันที่ 7 ส.ค. 2562 เนื่องจากประเมินว่า ภาคการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรที่จะต้องติดตามสำหรับการดำเนินนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า น่าจะอยู่ที่ 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) ความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งจะรวมถึงขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการตอบสนองของระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ และ 2) ความไม่แน่นอนของปัจจัยลบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสภาวะไม่ปกติในระยะข้างหน้า อาทิ ความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
จากถ้อยแถลงหลังการประชุมของกนง. ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กนง. ให้น้ำหนักของการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินไปที่ปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า ตลาดเงินตลาดทุนคงรอติดตามว่า กนง. จะประเมินปัจจัยลบและผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร และสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะมุมมองดังกล่าวจะมีผลต่อการคาดการณ์ของตลาดต่อการกำหนดจุดยืน/ท่าทีของนโยบายการเงินในช่วงต่อไปด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น