Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ตุลาคม 2562

สถาบันการเงิน

คาดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จำกัดการเติบโตของรายได้หลัก กดดันปัญหาคุณภาพหนี้ แม้ธ.พ.ไทยยังบันทึกกำไรต่อเนื่องในไตรมาส 3/62 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3041)

คะแนนเฉลี่ย

​                แม้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3/2562 ที่ทยอยประกาศออกมาจะสะท้อนว่า ระบบธ.พ. ไทยในภาพรวมยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้จากการบันทึกกำไรจากรายการพิเศษ การปรับลดค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ยังมีผลกดดันกรอบการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3/2562 ประมาณ 0.7% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนท่ามกลางแรงกดดันจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย การชะลอตัวของสินเชื่อ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR เพียงขาเดียว และภาระในการจ่ายดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์พิเศษบางรายการในช่วงครึ่งแรกของปี  

                  นอกจากนี้ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในไตรมาสที่ 3/2562 อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6% YoY (เทียบกับที่เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 1.1% YoY ในไตรมาส 2/2562) แต่สาเหตุหลักๆ จะเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจะยังคงเห็นธนาคารพาณิชย์พยายามผลักดันสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ มาชดเชยรายได้ที่หายไปจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล  

                  ในอีกด้านหนึ่ง ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงในหลายภาคส่วนทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงต้องดูแล และให้ความสำคัญกับปัญหาคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมระบบธ.พ.ไทย และสาขาธ.พ. ต่างประเทศ) หรือ NPL Ratio มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 2.97-3.02% ในไตรมาส 3/2562 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 2.95% ในไตรมาส 2/2562 อย่างไรก็ดี เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้คาดว่า ในไตรมาส 3/2562 อาจจะเห็นการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ มาที่ระดับประมาณ 3.218 หมื่นล้านบาท  

             ​ สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงหนุนของผลประกอบการระบบธ.พ.ไทย น่าจะอยู่ที่การฟื้นตัวของการเบิกใช้สินเชื่อ และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเชิงฤดูกาลในช่วงปลายปี อาทิ ค่านายหน้าจากการขายผลิตภัณฑ์ประกัน และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน