Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ตุลาคม 2565

สถาบันการเงิน

คาดเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นหลังการคลายล็อกช่วยประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2565...แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3350)

คะแนนเฉลี่ย

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังการคลายล็อกดาวน์ จะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้หลักของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2565 โดยคาดว่า การทยอยฟื้นตัวกลับมาของการใช้จ่ายภายในประเทศ จะช่วยหนุนการเบิกใช้สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่ในฝั่งของผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยนั้น ยังคงเห็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตในอัตราตัวเลขสองหลัก ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ จากภาพดังกล่าว คาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในไตรมาสที่ 3/2565 จะขยายตัวประมาณ 5.3-5.5% YoY ขณะที่ NIM อาจขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบ 2.72-2.75% จากผลของสินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงเน้นจัดการโครงสร้างต้นทุนเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมอาจขยับขึ้นมาขยายตัวในกรอบ 4.5-7.0% YoY  

อย่างไรก็ดี ความเปราะบางของเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ทยอยเข้าปรับโครงสร้างฯ เป็นหนี้ที่มีปัญหาซับซ้อน ซึ่งก็ตอกย้ำว่าปัญหาคุณภาพหนี้ยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งจัดการแบบเชิงรุก นอกจากนี้เศรษฐกิจที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังน่าจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ตสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันด้อยลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์  ในไตรมาสที่ 3/2565 อาจขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.90-2.97% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งทำให้ระดับการตั้งสำรองฯ น่าจะทรงตัวหรือลดลงเพียงน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน อาจทำให้รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ยังคงฟื้นตัวในกรอบจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปของภาคธนาคารจะขึ้นอยู่กับจังหวะของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) ในช่วงต้นปี 2566

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม