Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กันยายน 2564

บริการ

B2C E-commerce กลุ่มสินค้า ปี’64 ขยายตัวกว่า 30% ผู้ประกอบการเผชิญโจทย์กำลังซื้อและการแข่งขันที่ยากขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3268)

คะแนนเฉลี่ย

              ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าตลาด B2C E-commerce กลุ่มสินค้าปี 2564 น่าจะขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากโควิด-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ซื้อและความหลากหลายของสินค้า พร้อมกับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้า รวมถึงช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น โดยการซื้อขายออนไลน์สินค้าแต่ละกลุ่มยังมีแนวโน้มขยายตัวจากสัดส่วนที่ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเครื่องดื่มและของใช้ส่วนตัว ซึ่งยังมีสัดส่วนที่เล็กมากและเป็นสินค้าจำเป็นที่คาดว่าผู้บริโภคจะยังคงมีการใช้จ่ายผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้บริโภค รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจด้วย

                อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้มูลค่าตลาด B2C E-commerce มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าธุรกิจค้าปลีกในภาพรวม แต่สัญญาณดังกล่าวส่งผลต่อภาพการแข่งขันที่ยากและรุนแรงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เล่น ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และการเติบโตของ E-commerce อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับช่องทางการซื้อขายสินค้าจากเดิมที่ซื้อผ่านช่องทางหน้าร้าน (Physical store) มาเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัว จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในแต่ละช่องทางการขายให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหากรายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ น่าจะเผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งในระยะข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด น่าจะทำให้ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปอีก และยังคงตัดสินได้ยากว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด เพราะแต่ละรายต่างก็เผชิญความท้าทายหรือมีโจทย์เช่นกัน ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการให้ตอบพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ