Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กรกฎาคม 2564

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

มาตรการหยุดการก่อสร้าง 1 เดือน เพิ่มแรงกดดันการลงทุนก่อสร้างปี 2564 คาดมูลค่าการลงทุนหดตัวราว -3.8% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3238)

คะแนนเฉลี่ย
​จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดก่อสร้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2564 ในจังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4 จังหวัด (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดในประเทศ หรือมีมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้มีการประเมินผลกระทบเบื้องต้น คาดว่า น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็นเม็ดเงินราว 36,200 ล้านบาท โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากโดยปกติแล้ว การลงทุนก่อสร้างในจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งประเทศ และจากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานได้บางส่วน รวมถึงผ่อนคลายงานก่อสร้างบางประเภท แต่ด้วยการระบาดของโควิดในปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลาย ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง ทำให้คาดว่า มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างภาพรวมทั้งปี 2564 อาจหดตัวที่ -3.8%  (เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 1.2%) หรือมีมูลค่าราว 1.27 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการสั่งหยุดก่อสร้างชั่วคราวในจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ซึ่งหากมีการสั่งหยุดก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือหากระยะเวลาในการหยุดการก่อสร้างยืดเยื้อออกไป ก็อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น​



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง