Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 พฤศจิกายน 2561

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ... เร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2940)

คะแนนเฉลี่ย

           ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... คือ ภาษีที่จะมาใช้แทนกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน และก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ มีการประเมินว่า การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 4 ปี โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ซึ่งร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการจัดเก็บภาษีจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 (ยกเว้นทรัพย์สินที่ใช้ทำเกษตรกรรมของบุคคลธรรมดา)

          สำหรับประเด็นสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนรายละเอียดของเพดานอัตราภาษีในอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ลดลงจากร่างกฎหมายฉบับเดิม เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาระภาษีให้กับผู้ครอบครองทรัพย์สิน เช่น ที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมลดเป็น 0.15% (จากร่างเดิมที่ 0.2%) และอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยลดเหลือ 0.3% (จากร่างเดิมที่ 0.5%) เป็นต้น อีกทั้งจะมีการจัดเก็บอัตราภาษีเป็นขั้นบันไดจำแนกตามมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละประเภท โดยอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริง จะต่ำกว่าเพดานอัตราภาษีที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ซึ่งยังคงต้องรอการประกาศพระราชกฤษฎีกา และรายละเอียดการประเมิ​นทรัพย์สินต่างๆ ตามเงื่อนไขของกฎกระทรวงด้วย

            ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ทางการมุ่งหวังสร้างผลดีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปลี่ยนการคำนวณภาษีจากฐานรายได้มาเป็นฐานทรัพย์สิน อาจจะสร้างความท้าทายโดยเฉพาะต่อผู้ครอบครองทรัพย์สินมากแต่มีรายได้น้อยที่อาจจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินแต่มีศักยภาพจำกัดในการพัฒนา ต้องขายทรัพย์สินในภาวะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เผชิญหลากประเด็นท้าทาย ทั้งกำลังซื้อครัวเรือน ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ผลจากมาตรการ LTV เป็นต้น​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม