Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุม FOMC วันที่ 25-26 ม.ค. คาดเฟดยังไม่ส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดได้รับรู้ไปแล้ว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3964)

คะแนนเฉลี่ย

​ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวอย่างต่อเนื่องและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full employment) คาดว่าเฟดคงเริ่มวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค 2565 ตามที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะยืนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปทานที่ยังตึงตัวและความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่มีความตึงเครียดขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราว่างงานเดือนธ.ค. 2564 ลดลงมาสู่ระดับต่ำกว่าระดับ 4.0% ที่ 3.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full employment) ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนคาดว่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพียงชั่วคราว และในภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่

ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ คาดว่าเฟดจะยังคงไม่ส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปแล้วก่อนหน้านี้และตลาดรับรู้ไปแล้ว เพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ ทั้งในประเด็นของความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานโลก ขณะที่คงต้องติดตามการประชุมนโยบายการเงินครั้งหน้าในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก อีกทั้งในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งตลาดคงจะต้องติดตามว่าเฟดจะมีการปรับจุดยืนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 3 ครั้งเป็น 4 ครั้งในปีนี้ตามที่ตลาดบางส่วนมีการคาดการณ์หรือไม่ โดยมีแนวโน้มว่าเฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี หากประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากขึ้น คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่อาจจะยังคงมีมุมมองปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้

สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดได้รับรู้การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณแข็งกร้าว (hawkish) เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเท่าใดนัก ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ