Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ตุลาคม 2550

พลังงาน

ราคาน้ำมันพุ่ง : สินค้าและบริการมีแนวโน้มขยับราคาสูงขึ้น...ผู้บริโภคต้องปรับตัว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2059)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ ;พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ” โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เกือบร้อยละ 80.0 มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาทต่อคน ซึ่งจัดเป็นชนชั้นระดับรากแก้วและชนชั้นกลางของประเทศ โดยทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากและมีการปรับพฤติกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2549 ที่คนกรุงเทพฯกลุ่มนี้มีการปรับพฤติกรรมไปแล้วอาจกล่าวได้ว่าคนกรุงเทพฯกลุ่มนี้ต้องรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นไปอีก
ประเด็นสำคัญที่พบจากการสำรวจคือ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้มและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต้องเร่งปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมสันทนาการ โดยเฉพาะการปรับลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนงด/ลดการท่องเที่ยวในต่างประเทศ บางส่วนหันมาท่องเที่ยวในประเทศแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศ และบางส่วนงด/ลดการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการปรับลดการใช้บริการสถานเสริมความงาม การสังสรรค์กับเพื่อนๆ การดูภาพยนตร์ ชมคอนเสิร์ต รวมทั้งลดการซื้อหนังสือ/หนังสือพิมพ์ด้วย ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลด/งดการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เลือกร้านที่ซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ราคาไม่แพง หันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น งด/ลดการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ และหันมารับประทานอาหารสำเร็จรูป/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในแต่ละครัวเรือนพยายามหามาตรการในการลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ โดยการลด/งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ลด/งดการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดการดูโทรทัศน์/วิดีโอ และลดการใช้โทรศัพท์มือถือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปพึ่งบริการรถสาธารณะมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวก็หันมาติดตั้งระบบก๊าซแทนน้ำมันมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันกลับมาใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐบาลแทนการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งหันมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตภายในประเทศทดแทนอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตจากต่างประเทศ และหันมาใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันมากขึ้น
ผลของการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลากหลายประเภท โดยแบ่งผลกระทบออกได้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับพฤติกรรม ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทเฮ้าส์แบรนด์ ธุรกิจบริการรถสาธารณะ ธุรกิจปั๊มก๊าซ ธุรกิจโรงพยาบาลรัฐบาลโดยเฉพาะบริการคลินิกพิเศษ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร ธุรกิจสินค้ามือสอง ธุรกิจรถเช่า ธุรกิจร้านค้าส่งเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดไฟ และธุรกิจประกันภัย ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ต้องปรับตัวรับกับการปรับพฤติกรรม ได้แก่ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารที่ต้องหันมาเน้นบริการส่งนอกสถานที่ และบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่มากขึ้น ธุรกิจผลิตน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังฯลฯ ต้องหันมาเพิ่มไลน์การผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำผลไม้ กาแฟ/ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ธุรกิจสถานบริการเสริมความงาม ต้องปรับกลยุทธ์ลดราคาและเสนอบริการตามกระแสความนิยม เช่น การยืดผมถาวรในราคาประหยัด เป็นต้น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง ต้องเน้นการปรับตัวเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ธุรกิจโฮมสเตย์ และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต และธุรกิจสถานบันเทิง เน้นการขยายธุรกิจไปครอบคลุมธุรกิจบันเทิงอื่นๆ เน้นการให้บริการครบวงจรมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพ เน้นการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นอาหารเสริมสุขภาพประเภทผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ธุรกิจจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ มีการปรับตัวโดยเริ่มมีการให้บริการจัดส่งนอกสถานที่ หรือการเป็นพันธมิตรกับวัดหรือศาลเจ้าเพื่อบริการจัดส่งสินค้าเป็นสต็อกเตรียมให้กับผู้ที่จะไปทำบุญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และปรับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป เช่น การหันมาจำหน่ายหลอดไฟฟ้าแทนเทียนพรรษา เป็นต้น
จากผลการสำรวจคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหวังพึ่งรัฐบาลในการช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพง โดยมาตรการที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ 5 อันดับแรกคือ การควบคุมการฉวยโอกาสการขึ้นราคาสินค้า/บริการของผู้ประกอบการ โดยอาศัยข้อกฎหมายที่จะลงโทษอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ไม่ขึ้นค่าบริการสาธารณูปโภค/บริการสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ปรับปรุง/เพิ่มบริการสาธารณะต่างๆโดยเฉพาะรถสาธารณะ/ขนส่งมวลชนให้เพียงพอกับความต้องการ ลดภาษีเงินได้ โดยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ทีช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ปรับเพิ่มเงินหักค่าลดหย่อน ขยายช่วงอัตราภาษีที่จัดเก็บที่เอื้อต่อผู้เสียภาษีที่มีรายได้น้อยให้เสียภาษีลดลง การไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้า เช่นการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหวังว่าถ้ารัฐบาลมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน