Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤษภาคม 2551

พลังงาน

ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด...ไทยต้องเร่งประหยัดการใช้น้ำมัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2169)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้วราคาน้ำมันดิบนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ได้ทำลายสถิติราคาน้ำมันสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2523 – 2524 ซึ่งเกิดสงครามระหว่างอิรักและอิหร่าน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 เป็นต้นมา มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ราคาได้ขยับตัวขึ้นไปแตะระดับ 126.8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายต่างมองว่าราคาน้ำมันดิบอาจขยับขึ้นไปถึง 150 – 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในปลายปีหน้า ทั้งนี้คำถามที่อยู่ในความสนใจของหลายฝ่ายก็คือปัจจัยใดเป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยสรุป ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นไม่หยุดในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางอุปสงค์และอุปทานตลาดในช่วงเวลาปัจจุบัน หากแต่เกิดจากหลากหลายปัจจัยทั้งต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงขึ้น ความวิตกกังวลในสถานการณ์ตลาดโดยเฉพาะความกังวลในอุปทานน้ำมันดิบในอนาคต รวมถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดค้าน้ำมันมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปีนี้ถึงปีหน้าจะยังคงแกว่งตัวสูง โดยมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะขยับสูงถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากตลาดยังเกิดความวิตกกังวลและรับรู้ข่าวในแง่ร้ายมากขึ้นอันกระทบต่อการคาดการณ์ถึงอุปทานน้ำมันที่อาจลดลง เช่น กระแสการเกิดภาวะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมไปถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่หากอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และตลาดทุนมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบก็ยังคงมีโอกาสที่จะลดต่ำลงไป หากตลาดเริ่มผ่อนคลายความวิตกกังวลจากข่าวสารในแง่ร้ายต่างๆ และมีการรับรู้ข่าวสารในแง่ดีมากขึ้น เช่น การค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ หรือการผลิตพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำมาก รวมไปถึงหากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และตลาดทุนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การเก็งกำไรในน้ำมันดิบลดลงได้

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันต่อ GDP ที่สูงกว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก ซึ่งหากในปี 2551 นี้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ WTI ต่อปีปรับสูงขึ้นไปถึง 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (สูงขึ้นประมาณ 50% จากปี 2550) คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยให้ลดลงประมาณ 1.8% (หากกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่) ในขณะที่จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากระดับปกติประมาณ 2.3% อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องและรายได้ในภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการน่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปีคงจะขยับขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 5% จากระดับ 2.3% ในปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาครัฐควรเร่งออกมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อลดการบริโภคน้ำมัน รวมถึงคนไทยทุกคนควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและร่วมใจกันประหยัดการใช้น้ำมันอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน