Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มิถุนายน 2551

พลังงาน

ปัญหาต้นทุนขนส่งรถบรรทุก ... น้ำมันราคาถูกช่วยบรรเทาได้ระยะหนึ่ง แต่ต้องควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาระยาว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2205)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการขนส่งทางบกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ทำสถิติไปแตะที่ระดับสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบร้อยละ 60 ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายไตรมาส พบว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ราคาน้ำมันดีเซลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.7 บาทต่อลิตร ขยายตัวประมาณ ร้อยละ 28.3 และคาดว่าจะสูงขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 36.4 บาทต่อลิตร

ขยายตัวประมาณร้อยละ 36.8 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งขณะนี้ต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของต้นทุนขนส่งทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงภาวะต้นทุนของภาคการขนส่งที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับขึ้นค่าบริการขนส่งตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าบริการขนส่งทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 129.7 ขยายตัวประมาณร้อยละ 11.3 ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ก็คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันแก่ราคาค่าขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ประกอบการ จะมีโอกาสในการปรับขึ้นค่าบริการขนส่ง แต่ก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในด้านอุปสงค์

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางบกได้เสนอข้อเรียกร้องต่อภาครัฐให้ช่วยเหลือในระยะสั้น คือ การขอให้สนับสนุนน้ำมันดีเซลที่มีราคาถูกกว่าราคาตลาด 3 บาทต่อลิตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าในสถานการณ์โดยทั่วไปภาครัฐควรหลีกเลี่ยงการอุดหนุน (Subsidy) หรือการแทรกแซงกลไกตลาด แต่ต้องยอมรับว่าในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบได้ในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจนั้น ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอาจยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับตัว รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาปัญหาอัตราเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการขนส่งโดยรถบรรทุกถือเป็นเส้นเลือดหลักของการขนส่งและกระจายสินค้าของภาคการผลิตไทย ซึ่งมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวอาจช่วยพยุงต้นทุนของสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากนัก อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือด้วยมาตรการระยะสั้นนี้ควรที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการวางแผนระยะยาวร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในบริหารจัดการเพื่อที่จะลดต้นทุนการใช้พลังงานในภาคการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากการสนับสนุนน้ำมันดีเซลราคาถูกเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระยะสั้นและยังมีข้อจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ วิธีการจัดสรรน้ำมันดีเซลราคาพิเศษแก่รถบรรทุกอย่างเป็นธรรม และทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก

ถึงแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือข้างต้นอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น นอกจากมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแล้ว ภาครัฐและภาคเอกชนควรให้ความสำคัญในการวางแผนสำหรับแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะแนวทางการใช้ก๊าซ NGV ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตลอดจนภาคเอกชนเองก็ควรเร่งพัฒนาศักยภาพและปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน