Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กรกฎาคม 2551

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งหลังปี 2551: หลากปัจจัยลบ...กระทบการฟื้นตัว (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2084)

คะแนนเฉลี่ย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินทิศทางการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ในปี 2551 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 จากที่หดตัวในปี 2550 สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีประมาณ 67,600 หน่วย หดตัวลงร้อยละ 7.2 จากจำนวน 72,808 หน่วย ในปี 2550 โดยเป็นการหดตัวลงของที่อยู่อาศัยประเภทโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากยังมีโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จที่รอขายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้การเปิดโครงการใหม่ในระยะข้างหน้านับจากนี้น่าจะชะลอลง โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่จากผู้ประกอบการขนาดเล็กน่าจะหดตัวลง สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทบ้านปลูกสร้างเอง คาดว่า การเติบโตในปีนี้น่าจะหดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากการแนวโน้มราคาค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยอาจมีการปรับขึ้น และภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มชะลอการตัดสินใจสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จยังคงมีการขยายตัวในปีนี้ เนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการเปิดตัวไปเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหน้าได้ทยอยสร้างเสร็จ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจะไปได้ดีในปีนี้ น่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ซึ่งแรงซื้อของอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม นอกจากจะมาจากความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองของกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินแล้ว กำลังซื้ออีกส่วนหนึ่งยังมาจากการซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาว เนื่องจากในภาวะที่เงินเฟ้อสูง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยเฉพาะห้องชุดโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลย่านธุรกิจใจกลางเมือง หรือตามแนวที่มีรถไฟฟ้า BTS หรือ รถไฟใต้ดิน พาดผ่าน โดยลักษณะการลงทุนอาจจะเป็นในรูปแบบของการซื้อเพื่อปล่อยให้เช่าทั้งสำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทย และกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ หรือปล่อยขายเมื่อโครงการสร้างเสร็จในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่มีรอบระยะเวลาการก่อสร้างยาวนาน หากต้นทุนการก่อสร้างยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายอาจประสบสภาพคล่อง ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินการก่อสร้างโครงการในระยะข้างหน้านั้น อาจทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมหันมาให้ความสนใจกับโครงการที่สร้างเสร็จมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่มีโครงการสร้างเสร็จแล้ว หรือใกล้เสร็จแต่ยังมียูนิตเหลือขายเป็นจำนวนมากนำขึ้นมาเป็นจุดขายให้ผู้บริโภคเร่งตัดสินใจ

นอกจากนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ น่าจะเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในขณะนี้ โดยกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าห้องชุด แต่ไม่สามารถที่จะซื้อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวได้ เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์ของลูกค้าได้ระดับหนึ่ง

สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะประสบกับปัญหาในช่วงที่เหลือของปี น่าจะเป็นตลาดปลูกสร้างบ้านเอง นอกจากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคโดยภาพรวมแล้ว ปัญหาผู้รับเหมาที่ละทิ้งงานก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่จะปลูกสร้างบ้านต้องพิจารณาเลือกผู้รับเหมาอย่างระมัดระวังมากขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น และนอกจากนี้ผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคบางส่วนอาจจะชะลอการตัดสินใจออกไปจนกว่าเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว โดยเฉพาะในทำเลที่มีการแข่งขันสูง และผู้ประกอบการมีการเปิดโครงการ โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าเดียวกัน ทำให้เกิดการแย่งชิงฐานลูกค้า ทำให้ยอดขายของโครงการไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนด ทำให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ซึ่งสะท้อนกลับไปยังต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง