Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 สิงหาคม 2551

พลังงาน

พลังงานแสงอาทิตย์: พลังงานหมุนเวียนที่ไทยไม่ควรมองข้าม (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2094)

คะแนนเฉลี่ย

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การป้องกันภาวะโลกร้อน ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีการตื่นตัวในการใช้และพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์โลกมีการขยายตัวสูงตามความต้องการของตลาดที่ได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมในหลายๆประเทศ เช่น การให้เครดิตภาษี (tax credit) ในสหรัฐฯ หรือการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (feed-in tariffs) ในยุโรป เป็นต้น โดยตลาดการติดตั้งแผงโซลาร์รวมทั้งโลกในปี 2550 สูงถึง 2826 เมกกะวัตต์เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 62

สถานการณ์การผลิตและตลาดโลกของโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน การผลิตถูกกำหนดโดยอุปทานของโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบและเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ ภาวะการขาดแคลนซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ทำให้ผู้ผลิตที่สามารถจัดซื้อหรือทำสัญญาระยะยาวได้มีความได้เปรียบโดยสามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ของสินค้าซึ่งมีอยู่ในตลาดโลกได้ สำหรับประเทศไทยในส่วนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ความสามารถในจัดซื้อวัตถุดิบและการหาแหล่งเงินทุนเพื่อทำสัญญาระยะยาวเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมซึ่งเป็นข้อจำกัดในการรับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า

ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเป็นการผลิตเพื่อมุ่งส่งออกเป็นหลักเนื่องจากข้อจำกัดของขนาดและการเติบโตของตลาดภายในประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าตลาดที่มีศักยภาพ คือ การติดตั้งโซลาร์บนอาคารธุรกิจ สำนักงาน/โรงงาน/รีสอร์ทและโรงแรม โดยแนวโน้มการเติบโตของตลาดภายในประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐเป็นสำคัญ และหากภาครัฐให้การสนับสนุนมากเพียงพอ การใช้ในตลาดอื่นๆ อาทิ การลงทุนสร้างโซลาร์ฟาร์ม และการใช้งานของครัวเรือนภายในประเทศก็น่าจะมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น ด้านการส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวที่สูงในอนาคตของญี่ปุ่นและประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าความต้องการแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ของตลาดโลกในช่วงปี 2551-2553 น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ต่อปี

ความท้าทายของธุรกิจไทยในอนาคตอยู่ที่การแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการเดิมและการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ประกอบกับราคาของแผง/โซลาร์ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานวัตถุดิบและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งราคาที่ปรับลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกับการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นจะเป็นตัวกระตุ้นตลาดที่สำคัญที่ทำให้มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและราคาของสินค้าที่มีแนวโน้มลดลงจะเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมในไทยซึ่งต้องมีการปรับตัวทางด้านการผลิตให้มีการประหยัดต่อขนาดเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในด้านของภาครัฐสามารถช่วยเหลืออุตสาหกรรมได้โดยการให้การส่งเสริมในด้านการผลิต เช่น การลดภาษี การจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่ม และด้านการตลาดโดยเฉพาะตลาดภายในประเทศซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถที่จะเป็นตัวรองรับอุตสาหกรรม และช่วยให้ผู้ประกอบการมีการประหยัดต่อขนาดเร็วขึ้น โดยการเพิ่มมาตรการส่งเสริมและอุดหนุนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน