Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 สิงหาคม 2551

พลังงาน

แก๊สโซฮอล์อี 85 : สร้างความชัดเจน พิจารณารอบด้าน...สู่พลังงานทางเลือกที่สำคัญของประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2271)

คะแนนเฉลี่ย

ในแต่ละปีประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากฟอสซิลค่อนข้างสูง โดยนับตั้งแต่ปี 2549 ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบในปริมาณที่สูง ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศมากกว่าปีละ 700,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 9 % ของ GDP ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง แต่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศไทยกลับไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย โดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี 2551 นี้ กลับมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 ถึง 7.9 % โดยหากคำนวณในรูปของมูลค่าการนำเข้าต่อ GDP แล้วจะพบว่าครึ่งแรกของปี 2551 จะมีค่าที่สูงถึง 11.8 % ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนมูลค่าที่สูงขึ้นมาก

ขณะที่การพัฒนาพลังงานระบบไฮบริดที่เกิดจากการนำแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่หมดสิ้นตามธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวล ตั้งแต่สองแหล่งขึ้นไปมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน หรือพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่สามารถหมุนเวียนใช้ได้อย่างไม่หมดสิ้นก็ยังคงมีข้อจำกัดค่อนข้างมากทั้งในด้านต้นทุนที่สูง และการประยุกต์ใช้งานจริงที่ยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นภาครัฐจึงได้ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปก่อน โดยพยายามที่จะลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนประกอบจากเอทานอลที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่สำคัญของภาครัฐ

การที่ภาครัฐมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ให้เป็นวาระแห่งชาตินี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแนวคิดดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตและแปรรูปอ้อย มันสำปะหลังให้กลายเป็นเอทานอลเพื่อนำมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ ได้มาก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่วมกันในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อหาจุดเหมาะสมในการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 นี้ เนื่องจากแม้ว่าการกำหนดอัตราภาษีรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ในอัตราที่ต่ำ ทั้งภาษีรถยนต์ที่นำเข้าและรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้รถยนต์อี 85 มีราคาไม่สูงจนเกินไป อีกทั้งการตั้งราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ที่ต่ำเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้ อาจจะทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 มีการใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม เนื่องจากค่ายรถส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ประเภทอื่นที่มิได้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อยอดขายจากโครงการรถยนต์อี 85 จนอาจมีผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน การลงทุนในประเทศและการส่งออกได้ อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากการกำหนดระดับการสนับสนุนที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 โดยคำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ภาครัฐควรเร่งศึกษาและหาแนวทางรองรับการขยายตัวของความต้องการน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ที่อาจเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิตเอทานอลให้เพียงพอกับความต้องการ รวมไปถึงจำนวนสถานีบริการน้ำมันจะต้องมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 จำหน่ายอยู่อย่างกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้โครงการแก๊สโซฮอล์อี 85 สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน